สมาธิสั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพเด็ก

บทความโดย :

สมาธิสั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

“สมาธิสั้น”หรือเรียกว่า ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เกิดจากความผิดปกติในการของสมองบางส่วนทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง ซน ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ยากและหุนหันพลันแล่น เป็นต้น ดังนั้นหากรู้เท่าทันและรักษาโรคสมาธิสั้นได้อย่างทันท่วงที ก็สามารถทำให้เด็กมีอาการที่ดีขึ้นได้


เหตุใดถึงเกิดสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมอง คือ มีปริมาณสารเคมีบางตัวในสมอง (Dopamine, Noradrenaline) น้อยกว่าเด็กปกติ โดยเฉพาะในสมองส่วนหน้า ที่ควบคุมเรื่องสมาธิ ความจดจ่อ การยับยั้งชั่งใจ และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำงานน้อยกว่าเด็กปกติ

โดยการเกิดสมาธิสั้นนั้นยังหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน เช่น กรรมพันธุ์ การสูบบุหรี่ของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด ภาวะแทรกซ้อนอื่นระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น ในด้านของการเลี้ยงดู การดูทีวี และการเล่นเกมไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคสมาธิสั้น แต่อาจส่งผลให้อาการสมาธิสั้นเกิดมากขึ้นได้


อาการของเด็กสมาธิสั้น (ตามเกณฑ์วินิจฉัยของ DSM-5)

อาการของเด็กสมาธิสั้น สามารถแย่งออกได้ 3 กลุ่มดังนี้

  1. อาการขาดสมาธิ หรือ สมาธิสั้น
    • ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จได้
    • ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
    • ขาดสมาธิในขณะทำงานหรือทำกิจกรรมอื่น
    • ไม่สามารถตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
    • ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
    • พยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
    • วอกแวกง่าย
    • ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นหายอยู่บ่อยๆ
    • ขี้ลืม
  2. อาการซน อยู่ไม่นิ่ง
    • ยุกยิก อยู่ไม่สุข
    • นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ
    • ชอบวิ่ง ปีนป่าย
    • เล่นเสียงดัง
    • ตี่นตัวตลอดเวลา
  3. อาการหุนหันพลันแล่น
    • พูดมาก
    • พูดโพล่งโดยยังฟังไม่จบ
    • รอคอยไม่เป็น มักจะขัดจังหวะหรือแทรกเวลาผู้อื่นพูด
    • คิดอะไรจะทำทันที
    • พูดสวน ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ
    • ไม่อดทนพอที่จะทำสิ่งนั้น

หากมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 มากกว่า 6 อาการขึ้นไป โดยที่อาการเกิดก่อนอายุ 12 ปี ซึ่งอาจมีลักษณะเด่นเฉพาะ 1 หรือข้อ 2 หรือทั้งสองข้อ มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้


เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นดูแลรักษาอย่างไร

การรักษาโรคสมาธิสั้นมีเป้าหมาย คือ การช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมตัวเองให้มีความตั้งใจเรียนและทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งอาจต้องได้รับการรักษาหลายด้านร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการรักษาด้วยยา เพื่อปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ทั้งผู้ปกครองและครูสามารถใช้การปรับพฤติกรรมช่วยเด็กได้โดยมีแนวทางดังนี้

  1. จัดทำตารางเวลากิจกรรมในแต่ละวันให้มีระเบียบแบบแผน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน
  2. จำกัดเวลาการดูทีวี / เล่นเกมคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือแท็บเล็ต
  3. จัดหาสถานที่ที่เหมาะสมในการทำการบ้านโดยไม่มีสิ่งรบกวน และอาจต้องมีผู้ใหญ่ประกบระหว่างทำการบ้านหากเด็กวอกแวกหรือหมดสมาธิง่าย
  4. พูดหรือสั่งงานในขณะที่เด็กพร้อมฟัง ให้เด็กพูดทวนคำสั่งก่อนลงมือปฏิบัติ
  5. สั่งงานที่ละขั้นตอนให้กระชับ เข้าใจง่าย และคอยกำกับให้ทำจนเสร็จ
  6. ผู้ปกครองควรสงบอารมณ์และใช้ท่าที่จริงจังในการจัดการหากเด็กทำผิด และลดการลงโทษหากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาจากโรค
  7. บอกเด็กล่วงหน้าถึงสิ่งที่ต้องการให้ปฏิบัติและชื่นชมทันทีเมื่อเด็กทำได้
  8. ให้เด็กมีโอกาสได้ใช้พลังงานให้เป็นประโยชน์ เช่น เล่นกีฬาหรือช่วยงานบ้านที่สามารถทำได้
  9. ในระหว่างที่อยู่โรงเรียน ทางโรงเรียนและครูสามารถช่วยดูแลได้ เช่น จัดที่นั่งใกล้โต๊ะครู ห่างจากประตู หน้าต่าง เขียนการบ้านบนกระดานให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการสั่งงานด้วยวาจา ตรวจสมุดจดงานว่าทำงานได้ครบถ้วนหรือไม่
  10. หากเด็กหมดสมาธิระหว่างเรียน อาจจัดกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ช่วยลบกระดานดำ หรือแจกหนังสือ
  11. ทางโรงเรียน หรือ ครูควรติดต่อประสานงานกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตามหากสงสัยว่าเด็กมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย