ต้องเครียดแค่ไหน? ต้องไปหาหมอ

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน

บทความโดย : นพ. สุกมล วิภาวีพลกุล

ต้องเครียดแค่ไหน? ต้องไปหาหมอ

จากสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนนี้ผู้คนกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยแรงกดดัน และความเครียดอยู่บ่อยครั้ง บางรายสามารถจัดการความเครียดเหล่านั้นได้ แต่บางรายกลับไม่สามารถจัดการกับความไม่สบายใจหรือความเครียดที่เผชิญอยู่ได้ ก่อให้เกิดความไม่สบายทางอารมณ์ และจิตใจ เป็นอาการป่วยทางจิตในระยะเริ่มแรก ซึ่งความเครียดนี้เองมักก่อให้เกิดอาการผิดปกติทั้งทางร่างกาย และจิตใจ อาทิ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ มึนงง สมาธิไม่ดี กระสับกระส่าย อารมณ์เศร้า เบื่อจนไม่อยากทำอะไรเลย ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันตามมา แล้วเคยสงสัยไหมว่าต้องเครียดแค่ไหน ถึงควรไปพบจิตแพทย์ ไปหาคำตอบกัน


ความเครียดคืออะไร?

ภาวะที่ร่างกายและจิตใจตอบสนองต่อความกดดัน การคุกคาม หรือบีบคั้นทางด้านจิตใจ และร่างกาย จากเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จนถึงเหตุการณ์สำคัญหรือร้ายแรงที่เกิดขึ้น โดยความเครียดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งทางตัวบุคคลเอง ครอบครัว คู่มรส เพื่อน สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม (ค่านิยม) ซึ่งบ่อยครั้งที่ความเครียดเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างพร้อมกัน ซึ่งผลกระทบนั้นจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึกโดยตรง เช่น ความซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความหงุดหงิดฉุนเฉียว และมีผลต่อสุขภาพร่างกายเกิดภาวะหรืออาการต่างๆ ขึ้นมา เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอนไม่หลับ เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ระดับของความเครียด

ความเครียดสามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ ได้แก่

  1. ความเครียดเฉียบพลัน เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน ท้าทาย หรือเกิดในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งเป็นประเภทของความเครียดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด
  2. ความเครียดตามช่วงเวลา เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ อาจสั้นหรือยาว เนื่องจากจะต้องพบกับสถานการณ์ตึงเครียดอยู่บ่อย ๆ โดยอาการจะทำให้รู้สึกกดดันอยู่บ่อยครั้งหรือสิ่งต่างๆ ไม่เป็นแบบที่คิด ส่งผลให้เกิดความล้าทั้งร่างกายและจิตใจ
  3. ความเครียดเรื้อรัง เป็นความเครียดเกิดขึ้นมายาวนานไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว อาจจะเกิดมาจากปัญหาส่วนตัวในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ต้องทำงานภายใต้ความกดดัน ต้องอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีความสุข หรือ ปัญหาเรื่องรายได้ไม่เพียงพอ เป็นต้น

> กลับสารบัญ


เช็กด่วน...คุณมีอาการเครียดแบบนี้ไหม

  • อารมณ์หงุดหงิด ใครพูดอะไรนิดหน่อยก็ฟังไม่เข้าหู เหวี่ยงวีนใส่คนใกล้ตัว แบบไม่รู้ตัว โดยเป็นแบบนี้บ่อยๆ และต่อเนื่อง
  • รู้สึกเบื่องานเหลือเกิน เช้าไม่อยากไปทำงาน
  • ชอบดึงผม กัดเล็บ
  • นอนไม่หลับติดกันหลายๆ คืน
  • อยู่ๆ ก็ท้องอืด แบบไม่มีสาเหตุ อาหารไม่ย่อย
  • ปวดท้องเหมือนเป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • ท้องผูกสลับท้องเสียแบบไม่มีสาเหตุ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ป่วยง่ายเป็นๆ หายๆ
  • ผื่นขึ้นบ่อยๆ ไม่หายขาด
  • เมื่อเครียดแล้วอยากดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่

> กลับสารบัญ


เครียดแค่ไหนต้องพบจิตแพทย์

หากคุณมีอาการดังกล่าวประมาณ 2-3 อย่างขึ้นไป ไม่สามารถจัดการความเครียดได้ หรือมีความเครียดเรื้อรังเป็นอยู่นานติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือมีความรุนแรงมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิต คุณอาจกำลังโดนความเครียดเล่นงานอยู่ ควรเข้าปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อหยุดโรคเครียดไม่ให้รุนแรงมากไปกว่าเดิม เพราะหากปล่อยให้ตนเองมีความเครียดเรื้อรังสะสมไปเรื่อย ๆ อาการต่างๆ ข้างต้นอาจรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ก่อเกิดโรค เช่น โรคกรดไหลย้อน ลำไส้แปรปรวน ปวดศีรษะ ไมเกรน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

> กลับสารบัญ


เมื่อต้องเผชิญกับความเครียดทำอย่างไรดี

การรับมือ หรือ ลดความเครียด นั้น อาจมีวิธีที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน โดยเราสามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น

  • การแก้ไขที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด
  • ลองลดการแข่งขัน ผ่อนปรน ลดความเข้มงวด ในเรื่องต่างๆ เพื่อลดความกดดันในการดำเนินชีวิต
  • ปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์ให้เป็นไปในทางบวก
  • มองตัวเองและมองผู้อื่นในแง่ดี หรือมองโลกในแง่ดี
  • สำรวจและปรับปรุงในเรื่องของสัมพันธภาพต่อทั้งคนในครอบครัว และสังคมภายนอก

> กลับสารบัญ


ถึงแม้ความเครียดจะเป็นภาวะที่หลายคนเผชิญอยู่ แต่ความเครียดเรื้อรัง และรุนแรง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ ศูนย์สุขภาพ รพ.นครธน มีจิตแพทย์พร้อมให้คำปรึกษาปัญหาความเครียดเพื่อพูดคุยปรึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงของความเครียด และรับการบำบัด พร้อมประเมินว่ามีโรคทางจิตเวชอื่นๆ หรือ ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอื่นๆ ที่ต้องรักษาร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกของการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย