วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดใหม่ กับประสิทธิภาพการป้องกันที่มากขึ้น

ศูนย์ : ศูนย์สุขภาพนครธน

บทความโดย : พญ. ณัฐกา กาญจนพนัง

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดใหม่ กับประสิทธิภาพการป้องกันที่มากขึ้น

โรคงูสวัดสามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคงูสวัดมากกว่าและเมื่อเป็นงูสวัดก็จะรุนแรงกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง ทำให้เชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายแสดงอาการและก่อให้เกิดโรคงูสวัดออกมา ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยปัจจุบันได้มีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดใหม่ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดและลดภาวการณ์เกิดโรคงูสวัดได้สูงสุดถึง 97% รวมทั้งป้องกันภาวะปวดเรื้อรัง หรือลดการเจ็บปวดของโรคเมื่อผื่นโรคงูสวัดหายไป


โรคงูสวัด เกิดจากอะไร

โรคงูสวัด (Herpes Zoster) เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา VZV (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อนี้จะหลบอยู่ในร่างกายเรา จนเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง โรคงูสวัดจะเริ่มแสดงอาการออกมา โดยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกระจุก ร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท และอาจมีอาการปวดหัว ไข้ หนาวสั่น ท้องเสียร่วมด้วย

โรคงูสวัดสามารถเกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัด หากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรงพอ

> กลับสารบัญ


ป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างไร?

ในผู้สูงอายุ โรคจะแพร่กระจายและมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ดังนั้น วิธีป้องกันควรเริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ในขณะเดียวกันผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

> กลับสารบัญ


วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่ เป็นชนิดหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์ (Recombinant subunit zoster vaccine: RZV) ซึ่งเป็นระบบสารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant system) AS01B ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพวัคซีนให้กระตุ้นภูมิได้เร็วขึ้นและสูงกว่า จึงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคงูสวัดและประสิทธิภาพอยู่ได้ยาวนานกว่าวัคชีนแบบไม่ใส่ Adjuvant และสามารถใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิ

> กลับสารบัญ


วัคซีนชนิดใหม่ กับประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดสูง โดยจากการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ ≥ 50 ปี และ ≥ 70 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกัน โรคงูสวัด 97.2% และ 91. 3% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการติดตามกว่า 10 ปี พบว่าวัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดได้สูงถึง 89% รวมทั้งสามารถป้องกันอาการปวดตามเส้นประสาท (Post Herpetic Neuralgia: PHN) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในคนที่เป็นโรคงูสวัด

> กลับสารบัญ


ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด และฉีดอย่างไร

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปฉีด 2 เข็ม ขนาด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 2-6 เดือน
  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่อโรคงูสวัดมากกว่าปกติ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 1-2 เดือน
  • ในกรณีที่เคยได้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิด Zostavax มาก่อน สามารถรับ ได้ห่างกันอย่างน้อย 8 สัปดาห์
  • นอกจากนี้ยังสามารถให้วัคซีนป้องกันงูสวัด ชนิดใหม่ ร่วมกับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ , วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (IPD) หรือ Tdap vaccine ได้

> กลับสารบัญ


ใครบ้างไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดใหม่

  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • ห้ามฉีด ในผู้ที่แพ้ตัวยาสำคัญ หรือส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน

> กลับสารบัญ


ผลข้างเคียงของวัคซีน

ผลข้างเคียงของวัคซีน มักไม่รุนแรงและคงอยู่เพียงไม่กี่วัน ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ คัน ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด ปวดหัว เจ็บกล้ามเนื้อ หนาวสั่นมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ สามารถทานยาตามอาการได้ และหายเป็นปกติใน 2 - 3 วัน

> กลับสารบัญ


โรคงูสวัดเป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาทและผิวหนังของผู้สูงอายุที่พบบ่อยและกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย หากคุณอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือเป็นผู้มีความเสี่ยง ควรได้รับการป้องกันด้วยการให้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกการป้องกันที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย