การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เมื่อถูก “งูกัด”

ศูนย์ : ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน

บทความโดย : นพ. สมพงษ์ ทองสิมา

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เมื่อถูก “งูกัด”

การถูกงูกัดไม่ว่าจะมีพิษหรือไม่มีพิษ เป็นอุบัติภัยที่พบได้อย่างไม่คาดคิด หากเราหรือบุคคลอื่นถูกงูกัดอย่างไม่ทันตั้งตัว สิ่งแรกจะต้องมีสติ อย่าเพิ่งตกใจ ดูลักษณะของงูหรือถ่ายภาพงูเอาไว้หากสามารถทำได้ และร้องขอความช่วยเหลือ ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ เพราะไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด จากนั้นให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แล้วหากเราหรือบุคคลอื่นถูกงูกัดควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรให้ถูกต้องมาหาคำตอบกัน


การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

  1. พยายามคลายกังวล และมีสติให้มากที่สุด หากใส่เครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าที่กดรัดรอยแผลงูกัด ให้รีบถอดออกทันที
  2. หากมีน้ำสะอาดและสบู่อยู่ให้รีบล้างแผลทันที เนื่องจากสามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือพิษงูที่ได้รับ
  3. ให้ดามบริเวณที่ถูกงูกัด ด้วยผ้ายืดกระชับกล้ามเนื้อ ดามด้วยวัสดุที่มีลักษณะแข็ง เช่น ท่อนไม้ ท่อ PVC หรือกระดาษม้วนให้แข็ง เพื่อให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
  4. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เนื่องจากการเคลื่อนไหวหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อจะทำให้พิษงูถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น
  5. วางอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ
  6. รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือเรียกรถพยาบาลมารับทันที

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อถูกงูกัด

  1. ไม่ควรขันชะเนาะ เพราะไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้
  2. ห้ามใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสีฟัน สมุนไพรอื่น ๆ ทาบริเวณแผลที่ถูกงูกัดโดยเด็ดขาด
  3. ห้ามใช้ปากดูดแผลที่ถูกงูกัด เพราะทำให้เสี่ยงติดเชื้อที่บริเวณบาดแผล และผู้ที่ช่วยเหลืออาจได้รับอันตรายจากพิษงู
  4. ห้ามถู ขัด นวด ใช้ไฟหรือเหล็กร้อนจี้ หรือมีดกรีดแผล บริเวณแผลงูกัดเด็ดขาด เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และเลือดออกมากได้
  5. ผู้ที่ถูกงูกัดไม่ควรดื่มสุรา เพราะจะทำให้สับสนถึงอาการของพิษงูต่อระบบประสาทได้

การรักษาเมื่อถึงโรงพยาบาล

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือดผู้ที่ถูกงูกัด บางรายยังไม่มีอาการของพิษ เมื่อมาถึงโรงพยาบาล โดยอาการของพิษงูเกิดได้ตั้งแต่ 15-30 นาที หลังถูกกัด หรือ อาจนานถึง 9 ชม. จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพ้นระยะอันตราย

การรักษาโดยการให้เซรุ่มต้านพิษงูส่วนใหญ่ทำมาจากม้า มีประโยชน์แต่ก็เสี่ยงต่อการแพ้ และบางครั้งงูมีพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะรายตามความเหมาะสม และฉีดต่อเมื่อมีอาการของพิษงูเท่านั้น ซึ่งการฉีดเซรุ่มต้านพิษงูจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเลือดออกให้ดีขึ้นได้


รู้ได้อย่างไรว่างูนั้นมีพิษหรือไม่

งูที่กัดเรามีพิษหรือไม่นั้น สังเกตได้เบื้องต้น ดังนี้

  • งูไม่มีพิษ ได้แก่ งูเหลือม งูหลาม งูเขียวปากจิ้งจก งูสิง งูแสงอาทิตย์ งูทางมะพร้าว เป็นต้น โดยรอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว ประเภทงูที่พบบ่อยในประเทศไทย
  • งูมีพิษ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูทะเล เป็นต้น จะมีรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน หรือมีเลือดซึมออกจากแผล และบริเวณรอบๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำ หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ

พิษของงูส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

เมื่อถูกงูกัด พิษของงูจะส่งผลต่อร่างกาย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) อาการ เริ่มจากแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และอาจเสียชีวิตในที่สุด โดยชนิดของงู ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา
  2. พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin) อาการ เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล แผลบวมมาก เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เหงือก ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว และอาจถึงแก่ชีวิตในที่สุด โดยชนิดของงู ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกงูกัดให้พึงระลึกไว้เสมอว่ามีโอกาสเป็นงูพิษ หากสามารถนำซากงูหรือถ่ายภาพงูมาด้วยหรือรู้จักชนิดของงูที่กัด ก็จะช่วยในการดูแลรักษา แต่ถ้าไม่เห็นหรือไม่สามารถนำมาได้ แพทย์จะประเมินจากลักษณะบาดแผลร่วมกับอาการทางคลินิกเพื่อให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย