แมมโมแกรม ตรวจคัดกรองความผิดปกติของเต้านม

ศูนย์ : ศูนย์รักษ์เต้านม

บทความโดย : นพ. กำพล รัชวรพงศ์

แมมโมแกรม ตรวจคัดกรองความผิดปกติของเต้านม

ปัจจุบัน มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิง และส่วนใหญ่ มักไม่ทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในเต้านม อาศัยเพียงแค่การคลำเต้านมหรือจากการตรวจร่างกายแบบทั่วไป จะไม่สามารถบอกถึงความผิดปกติได้ ฉะนั้น การตรวจแมมโมแกรมจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการคัดกรองความผิดปกติ หรืออาการที่เกิดขึ้นในเต้านมในระดับเนื้อเยื่อได้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยว่าความผิดปกตินั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่


อะไรคือ...แมมโมแกรม

แมมโมแกรม (Mammogram) คือ เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้สร้างภาพภายในเนื้อเยื่อของเต้านมโดยใช้รังสีเอ็กซ์ขนาดกำลังต่ำ การตรวจแมมโมแกรมนั้นเป็นการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกตั้งแต่ยังไม่ปรากฏอาการ พร้อมทั้งยังสามารถตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ ในเต้านม เช่น หินปูน ซีสต์เต้านม ก้อนเนื้อในเต้านม รวมทั้งช่วยให้การวินิจฉัยแยกโรคของความผิดปกติต่างๆ เหล่านั้นอีกด้วย

การตรวจแมมโมแกรมจะมีการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมด้านละ 2 รูป รวมทั้งถ่ายจากข้างบนแล้วก็ด้านข้างรวมเป็น 4 รูป ซึ่งภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดสูงสามารถแสดงส่วนประกอบต่างๆ ของเต้านม ได้แก่ เนื้อเต้านม ไขมัน ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้รักแร้บางส่วน และบางส่วนของกล้ามเนื้อทรวงอกที่รองรับเต้านม หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็จะสามารถเห็นและเจาะจงตำแหน่งได้อย่างถูกต้อง


แมมโมแกรมใช้ตรวจอะไรได้บ้าง

การตรวจแมมโมแกรม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

  • ตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ (Screening) ซึ่งจะเป็นการตรวจเพื่อเฝ้าระวังและคัดกรองหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น หรือสิ่งผิดปกติที่จะเกิดขึ้นภายในเต้านม เช่น หินปูน ซีสต์เต้านม ก้อนเนื้อ เป็นต้น
  • ตรวจผู้ที่มีอาการผิดปกติ (Diagnosis) ซึ่งจะเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคจากอาการที่เกิด เช่น คลำเจอก้อนที่เต้านม เจ็บบริเวณเต้านม เนื้อเต้านมหนาตัวขึ้นผิดปกติ มีของเหลวไหลออกจากหัวนม ลักษณะหรือขนาดเต้านมเปลี่ยนแปลงไป เพื่อค้นหาสาเหตุของก้อนเนื้อหรือความปกติที่พบว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป

เมื่อไหร่ที่ควรไปตรวจ

ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรได้รับการทำแมมโมแกรม 1 ครั้งเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจ 1 ครั้งทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว หรือญาติด้านมารดาอาจจะยิ่งต้องตรวจให้เร็วกว่าปกติ


เตรียมตัวก่อนตรวจแมมโมแกรม

การตรวจแมมโมแกรมควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงใกล้มีประจำเดือน เพราะช่วงนั้นเต้านมจะตึงทำให้เจ็บกว่าปกติ โดยเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจคือช่วง 1 อาทิตย์หลังหมดประจำเดือน และก่อนการตรวจควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงอาการหรือสิ่งผิดปกติที่เกิดกับเต้านม ประวัติการผ่าตัด การใช้ฮอร์โมน หรือยาคุมกำเนิด รวมทั้งในวันตรวจหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางค์ น้ำหอม แป้ง โลชั่น หรือโรลออน ทาบริเวณเต้านมหรือใต้วงแขน เพราะอาจทำให้เหมือนมีจุดผิดปกติในภาพได้


ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรม

  1. ผู้รับการตรวจจะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและถอดเครื่องประดับทุกชนิดออกให้หมด
  2. อยู่ในท่ายืนหันหน้าเข้าหาเครื่อง เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าเพื่อวางเต้านมทีละข้างลงบนเครื่องตรวจ
  3. เครื่องจะค่อยๆ กดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมแผ่ออก แล้วทำการถ่ายภาพเต้านมทีละข้างจนเสร็จ

ข้อจำกัดในการตรวจแมมโมแกรม

การตรวจแมมโมแกรมไม่เหมาะกับผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในเต้านมของผู้หญิงอายุน้อยมักจะมีความหนาแน่นมากกว่าผู้หญิงอายุมาก ผลที่ได้อาจจะไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรค รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตรวจในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์จากรังสีได้ จึงควรมีการแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ฉายรังสีก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์


สำหรับผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจเต้านม ถ้ามีอายุมากกว่า 40 ปีควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมทุกปี ซึ่งหากพบสิ่งผิดปกติที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถที่รักษาให้หายขาดได้


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย