ปวดคอ ปวดหลังเรื้อรัง?
ทางเลือกที่หลากหลายในการรักษา
ที่เหมาะกับคุณ
ค้นพบทางเลือกการรักษาโรคกระดูกสันหลังที่หลากหลาย ซึ่งออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา พร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทุกขั้นตอนมุ่งเน้นการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของคุณ ให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องตัวและไร้ความเจ็บปวด
เทคโนโลยีการรักษา พร้อมช่วยคุณหยุดปวดและกลับมาใช้ชีวิตปกติ
การรักษากระดูกสันหลังแบบ "ไม่ผ่าตัด"
เป็นการรักษาที่ใช้เทคนิคลดอาการปวดแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยการ “ฉีดยา” หรือ “จี้” บริเวณที่เป็นสาเหตุของอาการปวด ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ สามารถแก้อาการปวดได้ถูกตำแหน่ง เพราะมีแพทย์เฉพาะทางในการรักษาอาการปวด (Pain Intervention Specialist) ซึ่งมีความชำนาญร่วมวินิจฉัยจุดปวดและต้นตอสาเหตุด้วยวิธีการเฉพาะทางต่างๆ ทำให้สามารถบรรเทาหรือช่วยผู้ป่วยให้หายจากอาการปวด ต้องการปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
- การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง
ช่วยลดการบวมการอักเสบของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ทำให้การไหลเวียนของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่บริเวณเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังดีขึ้น เส้นประสาทยุบบวมจากการอักเสบจึงทำให้อาการปวดหลังของผู้ป่วยดีขึ้น นอกจากนี้การฉีดยายังจะช่วยลดอาการชาและอาการอ่อนแรงอันเนื่องมาจากการอักเสบของเส้นประสาทได้
สามารถใช้ได้ทั้งโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคโพรงประสาทตีบแคบ กระดูกสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท และกลุ่มอาการปวดสะโพกร้าวลงขา จากสาเหตุอื่นๆ โดยผลการรักษาสำหรับโรคหมอนรองกระดูกมักจะดีกว่าด้วยเหตุที่โรคหมอนรองกระดูกมีโอกาสหายเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว
- การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นความถี่วิทยุ Radiofrequency Ablation (RFA)
แพทย์จะทำการซักถามประวัติอาการและตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของอาการปวด เพื่อประเมินว่าจะใช้วิธีการรักษาแบบนี้กับผู้ป่วยได้หรือไม่ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการฉีดยาชาเข้าไปบริเวณที่มีอาการปวด แล้วดูว่าอาการปวดนั้นหายหรือไม่ หากอาการปวดดีขึ้นชัดเจน แสดงว่าการรักษาด้วยวิธีนี้น่าจะได้ประโยชน์ ก็จะนัดมาทำการรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุต่อไป
ขั้นตอนในการรักษานั้น จะใช้คลื่นความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation: RFA) จี้ไปยังเส้นประสาทเพื่อขัดขวางการส่งสัญญาณความปวดในไขสันหลังก่อนไปถึงสมอง จะใช้เวลาในการทำหัตถการประมาณ 1 ชั่วโมง และหลังทำหัตถการผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ควรมีผู้ร่วมเดินทางกลับบ้านด้วยและไม่ควรขับขี่รถยนต์ในวันนั้น
การรักษากระดูกสันหลังแบบ "ผ่าตัด"
หากผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคองอาการแล้วร่างกายยังไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดให้กับผู้ป่วย โดยปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าตัดที่ทันสมัย ทำให้การรักษาโรคกระดูกสันหลัง มีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดี แผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว ถือเป็นแนวทางการรักษาแบบ Minimally Invasive Spine Surgery ผู้ป่วยบอบช้ำน้อย ลดข้อเสียต่างๆ ที่เกิดจากบาดแผลขนาดใหญ่ ทำให้การผ่าตัดปลอดภัยกับผู้ป่วยมากขึ้น ต้องการปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
โรคกระดูกสันหลังที่สามารถ รักษาได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope)
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกซึ่งมีหน้าที่ รองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังเกิดการเสื่อมสภาพสูญเสียความยืดหยุ่น เมื่อมีแรงกระแทกจะทำให้เกิดการนูน หรือฉีกปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง
- โรคโพรงประสาทตีบแคบเกิดขึ้นจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง เมื่อกระดูกเสื่อมจะทำให้เกิดการหนาตัวขึ้น ร่วมกับเส้นเอ็นยึดกระดูกที่หนาขึ้น ส่งผลให้เส้นประสาทที่วิ่งอยู่ในโพรงประสาทถูกบีบรัด โดยการตีบแคบอาจเกิดเพียงระดับเดียว หรือหลายระดับของโพรงกระดูกสันหลังก็ได้
ขั้นตอนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
หลังจากที่ผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัด ขนาด 8 มม. เข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับอยู่โดยตรงโดยไม่ต้องตัดเลาะ กล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาท อย่างชัดเจน สามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกได้ไม่ว่า จะเป็นการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือการบีบรัดจากกระดูกข้อต่อ และเส้นเอ็นก็ตาม ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที จากนั้นผู้ป่วย สามารถเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด
ผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผ่านกล้อง Endoscope
โรคกระดูกสันหลังที่สามารถ รักษาได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องไมโครสโคป (Microscope)
- หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (Herniated Disc) การกดทับของหมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมาในบริเวณเส้นประสาท สามารถแก้ไขได้ด้วยความแม่นยำของกล้องไมโครสโคป
- กระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) ภาวะที่ช่องกระดูกสันหลังแคบลงและกดทับเส้นประสาท การผ่าตัดช่วยลดแรงกดทับและเพิ่มพื้นที่ในช่องกระดูก
- กระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) การเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลังที่ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังและการบาดเจ็บของเส้นประสาท การผ่าตัดผ่านกล้องช่วยให้แก้ไขได้อย่างปลอดภัย
- ภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม (Degenerative Disc Disease) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ การผ่าตัดช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังและฟื้นฟูการทำงานของกระดูกสันหลัง
- ภาวะกระดูกสันหลังเชื่อมติด (Spinal Fusion Issues) ในกรณีที่ต้องเสริมการเชื่อมต่อของกระดูกสันหลังหรือแก้ไขความผิดปกติของโครงสร้าง
- เนื้องอกในกระดูกสันหลัง (Spinal Tumors) การผ่าตัดผ่านกล้องไมโครสโคปช่วยกำจัดเนื้องอกในบริเวณที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่
- การบาดเจ็บกระดูกสันหลัง (Spinal Fractures) ช่วยซ่อมแซมและฟื้นฟูโครงสร้างที่เสียหายจากการบาดเจ็บ
ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผ่านกล้องไมโครสโคป (Microscope)
เป็นการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบเปิด ที่มีการใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงช่วยในการผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นรายละเอียดที่ชัดเจน และเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดเนื้อเยื่อบริเวณไขสันหลัง เส้นประสาท และพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในช่องโพรงกระดูกสันหลังที่ต้องการแก้ไข จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นในการเปิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ที่เกินความจำเป็น โดยแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียง 2-3 เซนติเมตร และสามารถลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของเส้นประสาทและเยื่อหุ้มไขสันหลังได้มากขึ้น แต่อย่างก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากยังต้องมีการเลาะกล้ามเนื้อเพื่อใช้อุปกรณ์ถ่างขยายกล้ามเนื้ออยู่ จึงทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลโดยประมาณ 2-3 วัน
นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายที่ต้องใส่สกรูหรือโลหะดามข้อกระดูกสันหลังที่มีปัญหา ยังมีเทคโนโลยีเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี O-arm Navigation ในการเพิ่มความแม่นยำให้กับศัลยแพทย์ผ่าตัดแสดงภาพสามมิติ แสดงตำแหน่งของกระดูกสันหลังอย่างละเอียดที่สำคัญสามารถกำหนดตำแหน่งที่ถูกต้องในการใส่โลหะ แม้ว่ากระดูกสันหลังจะผิดรูปอย่างรุนแรงก็ตาม
ข้อดีของเครื่อง โอ-อาร์ม เนวิเกชั่น (O-arm Navigation)
ด้วยการใช้เครื่องช่วยผ่าตัดด้วยระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี โอ-อาร์ม เนวิเกชั่น (O-arm Navigation) นี้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ทำให้การผ่าตัดทางกระดูกสันหลังที่ได้ชื่อว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อันตราย สามารถทำได้อย่างปลอดภัย แม่นยำ และนอกจากนี้ยังทำให้ลดเวลาการผ่าตัดลง โดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ เสียเลือดลดลง ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ในเวลารวดเร็ว ที่สำคัญเครื่องนี้จะช่วยลดการเกิดภาวะการแทรกซ้อนจากการใส่โลหะในกระดูกสันหลังลงไปได้อย่างชัดเจน และเป็นผลดี ต่อบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เนื่องจากได้รับรังสีน้อยกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม
O-arm Navigation เทคโนโลยีผ่าตัดกระดูกสันหลังแผลเล็ก