“กรดไหลย้อน” (GERD) โรคที่ไม่รุนแรง...แต่ไม่ควรละเลย
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
กรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ภาวะนี้ทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบและเกิดแผลรุนแรง ทำให้ปลายหลอดอาหารตีบ เกิดความเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
สารบัญ
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนเกิดจากกล้ามเนื้อที่หูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย
อาการของกรดไหลย้อน
มีการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามขึ้นมาถึงอกหรือคอ รวมถึงมีอาการเรอเปรี้ยวขมในปากและรู้สึกจุกเสียดแน่นท้อง บางรายมีอาการเหมือนมีก้อนจุกที่คอหรือเจ็บหน้าอกได้
การปฏิบัติตัวและการรักษา
การรักษากรดไหลย้อนประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การใช้ยา การส่องกล้องรักษาและการผ่าตัดแต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต สามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่ม ชา กาแฟ สุรา น้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดๆ อาหารไขมันสูง และอาหารย่อยยาก
- ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพราะน้ำหนักที่เกินทำให้ความดันในช่วงท้องเพิ่มมากขึ้น
- มื้อเย็นไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก ควรหลีกเลี่ยงมื้อดึก
- ไม่ควรเข้านอนหรือเอนกายหลังรับประทานอาหารหรือนอนราบทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่ไม่มากเกินไปต่อ 1 มื้อ
- ไม่ใส่เสื้อผ้าและเข็มขัดที่รัดแน่นเกินไปโดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
- ควรนอนยกหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว โดยใช้วัสดุรองขาเตียง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการช่วงกลางคืน
- ไม่ควรใช้วิธีนอนหนุนหมอนสูงเพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องของเราเพิ่มมากขึ้นและกรดไหลย้อนมากขึ้น
หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย เพื่อลดปริมาณกรดและเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งการใช้ยารักษาควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งไม่ควรลดยาหรือหยุดยาเอง ควรมาพบแพทย์ตามนัดและต่อเนื่องเพื่อปรับขนาดยา
ถ้าการรักษาด้วยยายังไม่ได้ผลเท่าที่ควร แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารส่วนบน แม้ว่าโรคกรดไหลย้อนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรงแต่ก็ไม่ควรละเลยโดยไม่รักษาเพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ