กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ที่มาของอาการปวดคอร้าวลงแขน

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ทวีชัย จันทร์เพ็ญ

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ที่มาของอาการปวดคอร้าวลงแขน

ภาวะหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือกระดูกคอมีการเสื่อมสภาพ หรือทรุด จากโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม มักทำให้มีอาการปวดคอร้าวลงแขน หรือมีอาการอ่อนแรงและชาร่วมด้วย พบบ่อยในผู้สูงอายุเกิดจากการใช้งาน และความเสื่อมตามอายุ แต่ในปัจจุบันพบมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทำให้มีอาการถึงขั้นทำให้เสียความสามารถในการทำงานได้ หากรักษาด้วยวิธีประคับประคองแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดคลายการกดทับเส้นประสาทโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า (ACDF) อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วย เพื่อให้กลับมาทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม


กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมจากสาเหตุใด

กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical spondylosis) นั้น ความเสื่อมจะเริ่มจากหมอนรองกระดูกเสื่อมซึ่งเกิดขึ้นแบบช้าๆ เกิดขึ้นหลายปี ระหว่างนั้นจะมีอาการปวดคอ ต่อมาจะมีกระดูกงอก มีการหนาตัวของเส้นเอ็นซึ่งจะทำให้ช่องกระดูกสันหลังแคบลง และอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในภาวะที่เกิดจากอุบัติเหตุ หรือภาวะที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ ดังนี้

  1. ภาวะการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณศีรษะและลำคอ ทำให้หมอนรองกระดูกบริเวณต้นคอมีการเคลื่อนหรือกดทับไม่ว่าจะเป็นไขสันหลังหรือเส้นประสาท อาจเกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน
  2. ภาวะที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่
    • กระดูกต้นคอเสื่อมจากอายุที่เพิ่มขึ้น และการใช้งานคอหนักในบางสาขาอาชีพ
    • กลุ่มที่มีพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยงเรื่องของการใช้คอ ใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น ยกของหนัก ใช้คอก้มหรือเงยติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
    • ภาวะที่มีการสึกกร่อนและฉีกขาดของกระดูกสันหลังส่วนคอเอง พบมากที่กระดูกสันหลังส่วนคอระดับ 5–6 เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ใช้งานและเคลื่อนไหวมากที่สุด
    • การแคบลงของช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังส่วนคอแต่ละปล้อง เนื่องจากการบางและเล็กลงของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวนั้นถูก จำกัด จึงเกิดการเสื่อมได้เร็ว

การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก รวมทั้งสอบถามอาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ปวดคอร้าวลงแขน แขนชา เป็นต้น ซึ่งอาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยอาการปวดคอที่ต้นเหตุได้


แนวทางรักษาโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดคอ บ่า หรือไหล่ เป็นๆ หายๆ อาจมีอาการปวดร้าวไปจนถึงบริเวณท้ายทอย หรือเริ่มมีอาการปวดคอร้าวลงแขน เป็นต้น กลุ่มนี้จะใช้การรักษาด้วยการรับประทานยา และทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่รักษาด้วยยาไม่หาย และอาจมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น มีอาการปวดคอมากขึ้น ปวดคอร้าวลงแขน เป็นต้น กลุ่มนี้จะใช้การรักษา ได้แก่

  • การลดอาการปวดด้วยการฉีดยาเข้าโพรงประสาท จะเป็นการฉีดยาผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลังที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดหลัง ช่วยลดการบวมการอักเสบของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ หรือ
  • การลดอาการปวดหลังโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือที่เรียกว่า Radiofrequency Ablation (RFA) การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นวิธีการลดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังและบรรเทาอาการปวดบริเวณคอและหลังด้วยการใช้ความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุจี้ตำแหน่งของข้อต่อกระดูก ข้อต่อเชิงกราน หรือเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด เป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องได้รับการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาให้เข้ารับการผ่าตัดคลายการกดทับเส้นประสาทโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า (Anterior Cervical Discectomy And Fusion; ACDF) เมื่อมีข้อบ่งชี้ คือ

  • ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น หรือผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดคอร้าวลงแขน
  • อาการปวดนั้นเรื้อรังหรือในขณะที่โรคมีความรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการอ่อนแรง มีอาการอัมพาต มีกล้ามเนื้อลีบ ไม่สามารถใช้มือทำงานได้ ไม่สามารถควบคุมกิจกรรมการเคลื่อนไหวของมือที่มีความละเอียดได้ ไม่สามารถควบคุมของกล้ามเนื้อนิ้วมือทำงานได้ เช่น หยิบของหล่น จับแก้วแล้วแก้วหลุดน้ำหกบ่อยๆ เป็นต้น
  • กรณีที่พบโรคบางอย่างที่ลุกลาม เช่น เนื้องอกในบริเวณกระดูกสันหลัง หรือมีภาวะติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า (ACDF)

การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า (Anterior Cervical Discectomy And Fusion; ACDF) เป็นการผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลัง รักษาอาการปวดคอร้าวลงแขนโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าหากัน ใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง (Microscope) โดยแผลผ่าตัดจะอยู่ที่คอด้านหน้ามีลักษณะของแผลเป็นเส้นตรง ขนาดราว 3 ซม.

ซึ่งศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านช่องว่างของกล้ามเนื้อโดยไม่จำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อออกเลย จากนั้นจะทำการคลายการกดทับของเส้นประสาทผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ แล้วจึงใส่อุปกรณ์สำหรับเชื่อมกระดูกเข้าไป โดยอาจเป็นกระดูกเทียม หรือเป็นชิ้นส่วนกระดูกของผู้ป่วยเองก็ได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจทำการยึดกระดูกเทียมด้วยสกรูเพื่อเสริมความแข็งแรงอีกด้วย

ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปโรคอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือมีอาการปวดคอร้าวลงแขน ขยับคอเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บรุนแรงเวลาขยับร่วมด้วย ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสม





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย