กระดูกสันหลังหัก การบาดเจ็บที่อันตรายเสี่ยงอัมพาต หรือพิการได้

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ธีรฉัตต์ ธนะสารสมบูรณ์

กระดูกสันหลังหัก การบาดเจ็บที่อันตรายเสี่ยงอัมพาต หรือพิการได้

กระดูกสันหลังหัก แตกต่างจากกระดูกแขน หรือขาหัก จัดได้ว่าเป็นการบาดเจ็บที่ร้ายแรงและอันตราย เนื่องจากบริเวณกระดูกสันหลังมีไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง การบาดเจ็บอาจจะเป็นได้ตั้งแต่การบาดเจ็บเล็กน้อยของเส้นเอ็น เยื่อหุ้มข้อต่อกระดูกสันหลัง จนถึงกระดูกแตกหัก ยุบ เคลื่อนหลุด และเกิดการบาดเจ็บของระบบประสาทจนเป็นอัมพาต ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อีกเลย


สาเหตุของกระดูกสันหลังหัก?

การบาดเจ็บของกระดูกสันหลังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • อุบัติเหตุทางการจราจร เกิดได้ประมาณ 45%
  • อุบัติเหตุตกจากที่สูง เกิดได้ประมาณ 20%
  • บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เกิดได้ประมาณ 15%
  • พฤติกรรมความรุนแรง เกิดได้ประมาณ 15% และสาเหตุอื่นๆ เกิดได้ประมาณ 5%
  • ภาวะกระดูกพรุนและเนื้องอกของกระดูกสันหลัง ก็เป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังหักได้ ทั้งนี้เพศชายพบมากกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า

อาการของกระดูกสันหลังหัก

อาการของกระดูกสันหลังหักหรือแม้แต่ข้อต่อกระดูกสันหลังเคลื่อน ไขสันหลังอาจจะถูกกดหรือ ถูกตัดขาด เป็นผลทำให้เกิดอัมพาตและหมดความรู้สึกของเส้นประสาทต่างๆ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ ไขสันหลัง ที่ได้รับอันตรายลงมา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ ได้แก่

กระดูกสันหลังหักที่คอ แขนและขาของผู้ป่วยจะเป็นอัมพาตและหมดความรู้สึก ชาไปทั้งตัว ยกเว้นศีรษะเท่านั้น ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจ เพราะกล้ามเนื้อทรวงอกและกะบังลม หยุดทำงาน เพราะเป็นอัมพาต

กระดูกสันหลังหักที่หลัง กล้ามเนื้อเกร็งตัว อ่อนแรง ขาทั้งสองข้างของผู้ป่วยจะชาและเป็นอัมพาต สูญเสียการควบคุมการขับถ่าย

กระดูกสันหลังยุบ อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ หรือ นั่ง ยืน เดิน หากมีการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท จะทำให้มีอาการชาอ่อนแรงของขา หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะได้


จะตรวจและวินิจฉัยกระดูกสันหลังหักได้อย่างไร?

ในรายที่มีอุบัติเหตุรุนแรงและมีอาการดังที่กล่าวมาจะได้รับการป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมโดยการใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังและระวังขณะเคลื่อนย้าย หลังจากได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียด แพทย์จะทำการสั่งตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสมต่อไป เช่น เอกซเรย์ การตรวจ CT scan หรือ MRI โดยการตรวจ MRI มักส่งตรวจในกรณีที่สงสัยว่ามีการบาดเจ็บต่อระบบประสาทหรือไขสันหลัง




ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

กระดูกสันหลังหัก รักษาได้

แนวทางการรักษาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังหัก สามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบดังนี้

1. การรักษาแบบประคับประคอง เริ่มต้นด้วยการให้ยาเพื่อลดความเจ็บปวด ป้องกันการตึงของกระดูกสันหลัง และป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นด้วยการตรึงกระดูกสันหลัง อาจเป็นการใส่เสื้อเกราะ ปลอกคอ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและประเภทของการบาดเจ็บ ซึ่งการใส่อุปกรณ์ประคองกระดูกสันหลังมีหน้าที่ คือ ประคับประคองกระดูกสันหลังส่วนที่บาดเจ็บ ลดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง ขณะที่กำลังฟื้นตัว ลดอาการปวดจากการขยับของกระดูกสันหลัง ในรายที่กระดูกหักหรือบาดเจ็บโดยไม่มีการเคลื่อนไหว หรือมีการบาดเจ็บของระบบประสาทจะได้รับการใส่อุปกรณ์ประคองกระดูกสันหลัง 8-12 สัปดาห์จนกระดูกติดร่วมกับการทำกายภาพบำบัด

2. การผ่าตัดยึดและ /หรือเชื่อมกระดูกสันหลัง ในกรณีที่กระดูกสันหลังหักและเกิดความไม่มั่นคง เคลื่อนหลุด การรักษาจะต้องทำให้กระดูกสันหลังมั่นคงขึ้น โดยการยึดตรึงกระดูกสันหลัง จัดเรียงกระดูกให้เข้าที่ รวมถึงอาจต้องเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง การยึดตรึงกระดูกสันหลังจะช่วยลดอาการปวด ช่วยทำให้การฟื้นตัวของระบบประสาทดีขึ้น นอกจากนี้ในบางรายที่มีกระดูกหัก ร่วมกับมีหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท การผ่าตัดยังช่วยลดการกดทับได้ด้วย

3. การฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty and Kyphoplasty) เทคโนโลยีการฉีดซีเมนต์โดยไม่ต้องผ่าตัด รักษาภาวะกระดูกสันหลังหักหรือทรุด ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง และกระดูกสันหลังผิดรูป อันเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุนเป็นหลัก รวมทั้งผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณไขสันหลัง และไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ จะช่วยลดเวลาในการพักฟื้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในขณะที่รักษาโรคกระดูกพรุนอยู่ โดยแบ่งเป็น 2 เทคนิค ได้แก่

  • Vertebroplasty เป็นเทคนิคที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังโดยการฉีดซีเมนต์
  • Kyphoplasty มีหลักการคล้ายกับ Vertebroplasty แตกต่างเพียงเทคนิคการทำหัตถการ คือ จะใช้บอลลูนเพื่อถ่างขยายในบริเวณกระดูกสันหลังชิ้นที่พรุน เพราะบอลลูนจะคงไว้ซึ่งรูปร่างของกระดูกสันหลังที่หักหรือยุบตัว ลดการเกิดภาวะกระดูกสันหลังผิดรูป รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำ
ทักระดูกหลังหักไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม นับว่าเป็นสิ่งที่อันตรายกับชีวิตมากเพราะกระดูกสันหลังเป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการกระดูกหักนั้น อย่างแรกเลยต้องมีความไม่ประมาท หากท่านมีอาการหรือความเสี่ยงหลังการเกิดอุบัติเหตุไม่ควรปล่อยไว้ ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อทำการตรวจกระดูกสันหลัง และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย