การฉีดซีเมนต์เพื่อเสริมโครงกระดูกสันหลัง (Vertebroplasty and Kyphoplasty)
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม
Vertebroplasty and Kyphoplasty
เป็นหัตถการอย่างหนึ่งสำหรับรักษาภาวะกระดูกสันหลังหักหรือทรุด ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง และกระดูกสันหลังผิดรูป อันเนื่องมาจากภาวะกระดูกพรุนเป็นหลัก รวมทั้งผู้ป่วยที่มีเนื้องอกบริเวณไขสันหลัง และไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ Vertebroplasty เป็นเทคนิคที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกสันหลังโดยการฉีดซีเมนต์ ส่วน Kyphoplasty มีหลักการคล้ายกับ Vertebroplasty แตกต่างเพียงเทคนิคการทำหัตถการ คือ Kyphoplasty จะใช้บอลลูนเพื่อถ่างขยายในบริเวณกระดูกสันหลังชิ้นที่พรุน เพราะบอลลูนจะคงไว้ซึ่งรูปร่างของกระดูกสันหลังที่หักหรือยุบตัว ลดการเกิดภาวะกระดูกสันหลังผิดรูป รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการหักซ้ำ หัตถการทั้งสองแบบนี้ จะช่วยลดเวลาในการพักฟื้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในขณะที่รักษาโรคกระดูกพรุนอยู่
จะเป็นอย่างไรเมื่อท่านไม่ได้รับการรักษาชนิดนี้?
การวินิจฉัยและการักษากระดูกสันหลังหักอย่างทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญ การรักษาจะได้ผลดีต่อเมื่อรู้แล้วรีบรักษา ภาวะกระดูกสันหลังโก่งและกระดูกผุบางจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้กระดูกสันหลังหักได้ง่าย ในกรณีที่สันหลังโก่งที่เห็นได้ชัด ความสามารถในการหายใจ เดิน รับประทานอาหาร และการนอนหลับจะลดลง ท่านควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
หัตถการนี้ทำอย่างไร?
ท่านจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีก่อนทำหัตถการ เพื่อยืนยันตำแหน่งของกระดูกสันหลังหักยุบได้ถูกต้อง Vertebroplasty และ Kyphoplasty สามารถทำได้โดยการฉีดยาชาหรือดมยาสลบ วิสัญญีแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมกับท่าน ขั้นตอนแรกของการทำหัตถการ คือ การจัดท่านอนคว่ำบนเตียงผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะกรีดผิวหนังบริเวณสันหลังเป็นรอยเล็กๆ เพื่อที่จะใส่เข็มที่จะฉีดซีเมนต์บริเวณกระดูกสันหลัง ภายใต้การควบคุมตำแหน่งโดยเครื่องถ่ายถาพรังสีเอกซเรย์ เมื่อฉีดซีเมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้วแพทย์จะค่อยๆดึงเข็มออกและปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ทั้งหมดนี้ ใช้เวลา1ชั่วโมงโดยประมาณต่อกระดูกสันหลัง 1 ชิ้น การทำ Balloon kyphoplasty เหมือน Vertebroplasty ยกเว้น ก่อนที่จะฉีดซีเมนต์จะต้องใช้บอลลูนถ่างขยาย เพื่อสร้างช่องว่างแล้วจึงฉีดซีเมนต์ใส่ไปที่ช่องว่างนั้น
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นเหมือนการผ่าตัดทั่วไป การที่แพทย์พิจารณาที่จะทำหัตถการนี้ ต้องมีผลการรักษาที่ดีมากกว่าผลเสียต่อผู้ป่วยอย่างแน่นอน ภาวะแทรกซ้อน สามารถเกิดได้จากภาวะทางสุขภาพร่างกายของท่านหรือเกิดจากการทำหัตถการทางกระดูกสันหลัง เช่น
- เกิดภาวะกระดูกหักใหม่
- การติดเชื้อที่กระดูกสันหลังพบได้น้อย
- เส้นประสาทรอบๆไขสันหลังถูกกระทบกระเทือน ซึ่งอาจทำให้ท่านยังคงมีอาการปวดหลังหลายสัปดาห์
- แผลเกิดการอักเสบ
- พบได้น้อยมากที่ซีเมนต์รั่วทะลุไปทางด้านหลังของกระดูกสันหลังแล้วไปกดทับเส้นประสาท จนอาจทำให้เกิดอาการแขน-ขาอ่อนแรงได้
การดูแลหลังทำหัตถการ
หลังทำหัตถการเจ้าหน้าที่จะเคลื่อนย้ายพาท่านไปที่ห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เป็นเวลา 2 ชั่วโมง พยาบาลจะติดตามประเมินสัญญาณชีพและประเมินอาการปวดหลังอย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่ท่านพักรักษาในโรงพยาบาลท่านสามารถลุกเดินและเคลื่อนไหวได้ทันที โดยปกติจะนอนพักในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนเท่านั้น
คำแนะนำก่อนกลับออกจากโรงพยาบาล
อาการไม่สุขสบาย :ท่านจะได้รับยาแก้ปวดหลังทำหัตถการเพื่อบรรเทาอาการปวดและม่สุขสบาย แต่เนื่องจากยาแก้ปวดบางตัวเป็นสารเสพติด จึงใช้ได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ และยังอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ท่านจึงควรดื่มน้ำตามมากๆ และรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง หากท่านมีอาการปวดไม่มาก อาจใช้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ได้
กิจกรรม
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากหรือหักโหม รวมทั้งท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ท่าก้มหลัง ท่าแอ่นหลัง ท่าบิดเอว
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก มากกว่า 5 กิโลกรัม
- ไม่ควรขับขี่ยวดยานพาหนะ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
- บางครั้งท่านอาจจำเป็นต้องใส่สายรัดเอว เมื่อยืนหรือเดิน แต่ไม่จำเป็นต้องใส่เมื่อจะเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการนั่งนานๆ เกิน 20-30 นาที ในการนั่งแต่ละครั้ง
- การเดิน เป็นสิ่งสำคัญและช่วยทำให้ท่านฟื้นตัวได้เร็ว ช่วงแรกท่านควรเดินอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน จากนั้น ค่อยๆ เพิ่มระยะทางเท่าที่ร่างกายของท่านสามารถทำได้
- ท่านสามารถเดินขึ้นลงบันได ตามที่ต้องการ แต่ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุพลัดตกหกล้ม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
- ก่อนที่ท่านจะลุกจากเตียง ท่านต้องพลิกตัวทั้งลำตัวโดยหันไปด้านใดด้านหนึ่งก่อน
การดูแลแผล
ดูแลแผลให้แห้งและสะอาด ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้น ท่านสามารถอาบน้ำแต่ไม่ควรแช่ในอ่างอาบน้ำ จากนั้น ซับแผลเบาๆและปล่อยให้แห้ง
อาการสำคัญที่ท่านต้องไปพบแพทย์ทันที
- มีอุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส และบริเวณรอยแผลมีอาการบวมแดง หรือมีสิ่งคัดหลั่งซึมผิดปกติ
- เดินลำบาก หรือมีแบบแผนของระบบขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระเปลี่ยนแปลงจากเดิม
- ปวดหลังมากขึ้น
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง