การฉีดยารอบเส้นประสาทระงับอาการปวดจากเชื้องูสวัด

ศูนย์ : บริการทางการแพทย์ด้านการระงับปวด

บทความโดย : นพ. นิรุจิ แสงสมส่วน

การฉีดยารอบเส้นประสาทระงับอาการปวดจากเชื้องูสวัด

โรคงูสวัด จะเป็นผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส กระจายไปตามผิวหนังที่เส้นประสาทนั้นๆ มักจะมีอาการปวดปลายประสาท โดยอาการตุ่มน้ำใส และการปวดจากเชื้องูสวัดจะทุเลาและหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์ บางรายหลังหายจากโรคงูสวัด อาการปวดก็ไม่หาย มักจะมีอาการปวดตามมาในเวลา 3 เดือน หรือ พบอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หลังจากตุ่มน้ำใสหายดีแล้วหลายเดือนหรือหลายปี โดยอาการนั้นจะเป็นการปวดตามปลายประสาท มีอาการแสบร้อน ปวดแปล๊บๆ คล้ายถูกไฟช็อต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำได้ แต่อาการปวดเหล่านี้สามารถทุเลาลงได้ด้วยการฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาท (Peripheral nerve block) ระงับอาการปวดจากเชื้องูสวัด


การปวดปลายประสาทจากเชื้องูสวัด

งูสวัด เป็นเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (VZV; Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วไวรัสตัวนี้จะไปฝังตัวตามปลายประสาท หากร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนทำให้เกิดอาการทางผิวหนังขึ้นมา มักจะไปอยู่ที่ปมประสาทบริเวณทรวงอก และใบหน้า ก่อให้เกิดตุ่มน้ำพองใส พร้อมกับอาการปวดแสบ ปวดร้อน คัน รู้สึกเหมือนถูกไฟไหม้หรือไฟลวก ส่วนใหญ่จะหายได้เองประมาณ 1- 2 สัปดาห์

แต่จะมีคนไข้ประมาณ 15% ที่ตุ่มแผลหายแล้ว แต่อาการปวดยังไม่หาย อาการปวดที่เกิดขึ้น จะปวดแปล๊บๆ คล้ายถูกไฟช็อต ปวดแสบร้อนตามแนวเส้นประสาทที่เป้นแผล บางรายที่เป็นรุนแรงแค่แตะก็ปวดแสบ หรือ ไม่สามารถใส่เสื้อผ้าได้ รวมไปถึงอาการปวดผิวหนัง ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระตุ้นด้วยสัมผัสต่างๆ ร่วมกับอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทรับความรู้สึก เช่น ชา คันยุบยิบผิดปกติ

> กลับสารบัญ


อาการปวดปลายประสาทจากเชื้องูสวัดเป็นนานแค่ไหน

อาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากแผลหายแล้ว หรือหลังจากหาย 3 เดือน ซึ่งหากมีอาการปวดแล้วไม่รีบรักษา อาจส่งผลให้จะมีอาการปวดเรื้อรังนานเป็นปี และอาจเป็นได้นานถึง 4-5 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการปวดเส้นประสาท คือ ผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากถ้าเป็นงูสวัด จะยิ่งมีความเสี่ยงในการปวดมากขึ้น การได้รับการรักษางูสวัดช้า จะมีโอกาสเกิดอาการปวดได้สูงกว่าการมารีบรักษาตั้งแต่ต้น รวมไปถึงตำแหน่งการเกิดโรค โดยตำแหน่งรอบตาและหน้าอก มีโอกาสปวดได้สูงกว่าตำแหน่งอื่นๆ

> กลับสารบัญ


ปวดแค่ไหนต้องพบแพทย์

  1. ปวดรุนแรงมาก ขณะที่ยังดำเนินโรคอยู่
  2. หลังจากแผลหาย แต่ยังมีอาการปวดอยู่
  3. มีอาการปวดหลังจากหายแล้วหลายเดือน โดยมีอาการปวดแสบ ปวดรุนแรง ปวดจนตกใจว่าเป็นอะไร ปวดจนดำเนินชีวิตประจำวันไม่ได้
  4. อาการต่างๆ แย่ลง หรือกังวลในอาการ

> กลับสารบัญ


รักษาอาการปวดปลายประสาทจากเชื้องูสวัดอย่างไร

เบื้องต้นจะมีการใช้ยาแก้ปวด และยาทา ที่ต่างจากการรักษาอาการปวดทั่วไป โดยแพทย์จะพิจารณาว่าจะใช้ยาอะไร ปริมาณเท่าไร ระยะเวลานานเท่าไร จากความรุนแรงของอาการ และจากประเมินการตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา หากการใช้ยายังไม่เป็นผล หรืออาการปวดยังไม่ทุเลา แพทย์จะพิจารณาในการรักษาด้วย การฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาท ระงับอาการปวดจากเชื้องูสวัด (Peripheral nerve block)

> กลับสารบัญ


การฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาท ระงับอาการปวดจากเชื้องูสวัด

การฉีดยาชาบริเวณรอบเส้นประสาท (Peripheral nerve block) ระงับอาการปวดจากเชื้องูสวัด เป็นการฉีดยาที่ยังบริเวณเส้นประสาทส่วนปลาย บรรเทาอาการปวดจากเส้นประสาท โดยใช้เข็มเพื่อให้ยาชาที่เส้นประสาทบริเวณที่ปวดเช่น ปวดบริเวณหน้าอก หรือ ใบหน้า โดยยาชาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการนำสัญญาณประสาทไม่ให้เข้าไปในไขสันหลัง บรรเทาอาการปวด จะทำภายใต้การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งเส้นประสาทก่อนจะให้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยได้รับการระงับอาการปวดปลายประสาทจากเชื้องูสวัดที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง โดยการรักษาอาการปวด ขึ้นกับความรุนแรงและอาการของคนไข้แต่ละราย กรณีที่คนไข้ตอบสนองต่อการรักษาดีมาก อาการปวดลดลงมาก หรือหายไปเลย แพทย์ก็จะหยุดการฉีดยาภายหลัง

> กลับสารบัญ


โรคงูสวัดแม้ไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้ารักษาไม่เหมาะสมตั้งแต่ต้น หรือรักษาไม่ถูกวิธีก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดปลายประสาทที่รุนแรง และเรื้อรังขึ้นได้ หากมีอาการปวดหลังจากเป็นงูสวัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือสามารถส่งข้อมูลปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ข้างล่างเลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย