การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี เมื่อถูก “งูกัด”
ศูนย์ : ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน
บทความโดย : นพ. สมพงษ์ ทองสิมา
การถูกงูกัดไม่ว่าจะมีพิษหรือไม่มีพิษ เป็นอุบัติภัยที่พบได้อย่างไม่คาดคิด หากเราหรือบุคคลอื่นถูกงูกัดอย่างไม่ทันตั้งตัว สิ่งแรกจะต้องมีสติ อย่าเพิ่งตกใจ ดูลักษณะของงูหรือถ่ายภาพงูเอาไว้หากสามารถทำได้ และร้องขอความช่วยเหลือ ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ เพราะไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด จากนั้นให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด แล้วหากเราหรือบุคคลอื่นถูกงูกัดควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรให้ถูกต้องมาหาคำตอบกัน
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด
- พยายามคลายกังวล และมีสติให้มากที่สุด หากใส่เครื่องประดับ หรือเสื้อผ้าที่กดรัดรอยแผลงูกัด ให้รีบถอดออกทันที
- หากมีน้ำสะอาดและสบู่อยู่ให้รีบล้างแผลทันที เนื่องจากสามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือพิษงูที่ได้รับ
- ให้ดามบริเวณที่ถูกงูกัด ด้วยผ้ายืดกระชับกล้ามเนื้อ ดามด้วยวัสดุที่มีลักษณะแข็ง เช่น ท่อนไม้ ท่อ PVC หรือกระดาษม้วนให้แข็ง เพื่อให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด
- พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เนื่องจากการเคลื่อนไหวหรือการหดตัวของกล้ามเนื้อจะทำให้พิษงูถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น
- วางอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ
- รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือเรียกรถพยาบาลมารับทันที
ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อถูกงูกัด
- ไม่ควรขันชะเนาะ เพราะไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้
- ห้ามใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสีฟัน สมุนไพรอื่น ๆ ทาบริเวณแผลที่ถูกงูกัดโดยเด็ดขาด
- ห้ามใช้ปากดูดแผลที่ถูกงูกัด เพราะทำให้เสี่ยงติดเชื้อที่บริเวณบาดแผล และผู้ที่ช่วยเหลืออาจได้รับอันตรายจากพิษงู
- ห้ามถู ขัด นวด ใช้ไฟหรือเหล็กร้อนจี้ หรือมีดกรีดแผล บริเวณแผลงูกัดเด็ดขาด เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และเลือดออกมากได้
- ผู้ที่ถูกงูกัดไม่ควรดื่มสุรา เพราะจะทำให้สับสนถึงอาการของพิษงูต่อระบบประสาทได้
การรักษาเมื่อถึงโรงพยาบาล
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือดผู้ที่ถูกงูกัด บางรายยังไม่มีอาการของพิษ เมื่อมาถึงโรงพยาบาล โดยอาการของพิษงูเกิดได้ตั้งแต่ 15-30 นาที หลังถูกกัด หรือ อาจนานถึง 9 ชม. จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพ้นระยะอันตราย
การรักษาโดยการให้เซรุ่มต้านพิษงูส่วนใหญ่ทำมาจากม้า มีประโยชน์แต่ก็เสี่ยงต่อการแพ้ และบางครั้งงูมีพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะรายตามความเหมาะสม และฉีดต่อเมื่อมีอาการของพิษงูเท่านั้น ซึ่งการฉีดเซรุ่มต้านพิษงูจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเลือดออกให้ดีขึ้นได้
รู้ได้อย่างไรว่างูนั้นมีพิษหรือไม่
งูที่กัดเรามีพิษหรือไม่นั้น สังเกตได้เบื้องต้น ดังนี้
- งูไม่มีพิษ ได้แก่ งูเหลือม งูหลาม งูเขียวปากจิ้งจก งูสิง งูแสงอาทิตย์ งูทางมะพร้าว เป็นต้น โดยรอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว ประเภทงูที่พบบ่อยในประเทศไทย
- งูมีพิษ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูทะเล เป็นต้น จะมีรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน หรือมีเลือดซึมออกจากแผล และบริเวณรอบๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำ หรืออาจพองเป็นถุงน้ำ
พิษของงูส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
เมื่อถูกงูกัด พิษของงูจะส่งผลต่อร่างกาย โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) อาการ เริ่มจากแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และอาจเสียชีวิตในที่สุด โดยชนิดของงู ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา
- พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin) อาการ เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล แผลบวมมาก เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เหงือก ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว และอาจถึงแก่ชีวิตในที่สุด โดยชนิดของงู ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกงูกัดให้พึงระลึกไว้เสมอว่ามีโอกาสเป็นงูพิษ หากสามารถนำซากงูหรือถ่ายภาพงูมาด้วยหรือรู้จักชนิดของงูที่กัด ก็จะช่วยในการดูแลรักษา แต่ถ้าไม่เห็นหรือไม่สามารถนำมาได้ แพทย์จะประเมินจากลักษณะบาดแผลร่วมกับอาการทางคลินิกเพื่อให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน