การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังส่วนเอว TLIF ด้วยเทคโนโลยี O-arm Navigation เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. ธีรฉัตต์ ธนะสารสมบูรณ์
ในอดีตการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อน จำเป็นต้องเปิดแผลยาวที่กลางหลังและต้องทำการเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกเป็นบริเวณกว้างเพื่อให้ทำการผ่าตัดได้สะดวก เพื่อยึดสกรูกับกระดูกสันหลังให้เข้าที่เหมือนเดิม ซึ่งการเลาะกล้ามเนื้อนี้เองเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดจากการผ่าตัดมากและทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้ช้า แต่ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดปัจจุบันใช้วิธีผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอวผ่านผิวหนัง หรือ TLIF จึงไม่จำเป็นต้องเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูก และเปิดแผลเล็กๆ เพียง 4 แผลเท่านั้น รวมทั้งการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) เข้ามาช่วยระหว่างผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กช่วยลดความบอบช้ำของผู้ป่วยทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนเป็นอย่างไร
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือด้านหลังมากกว่าปกติ โดยส่วนมากมักพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 เนื่องจากข้อกระดูกสันหลังส่วนนี้จะรับน้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกาย โดยความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหลังส่วนล่าง และจะมีอาการแย่ลงหลังออกกำลังกาย โดยเฉพาะเมื่อมีการบริหารกระดูกบั้นเอว และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โดยอาการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- อาการที่หลัง ปวดหลังเรื้อรัง มักเกิดอาการในขณะที่มีการขยับหลังมาก เช่น การก้ม เงย หรือเดิน
- อาการที่ขา ปวด ชา หนักที่บริเวณสะโพกหรือขา 2 ข้าง อาการจะเป็นมากขณะเดิน และอาการจะบรรเทาเมื่อมีการก้มโค้งหลังหรือได้นั่งพัก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าระยะทางที่เดินได้จะสั้นลงเรื่อยๆ หากโพรงประสาทตีบแคบมากอาจทำให้การควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะเสียไปได้
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อน
การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน ด้วยการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอวผ่านผิวหนัง หรือ TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) จะกระทำในกรณีรักษาแบบประคับประคองแล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมีอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นประจำหรือรุนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาทสัมพันธ์กับข้อกระดูกเคลื่อน เช่น อ่อนแรง ระบบทางเดินปัสสาวะและอุจจาระ และผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยในระดับที่ 3 และ 4 ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้เชื่อมกระดูกข้อสันหลังตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป โดยมักจะทำเพื่อกำจัดอาการปวดจากการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลังและจัดแนวกระดูกสันหลังให้กลับมาอยู่แนวปกติให้มากที่สุด
การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังผ่านผิวหนัง TLIF
การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังผ่านผิวหนัง หรือ TLIF เป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะยึดตรึงกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กบนผิวหนัง โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด แสดงตำแหน่งต่าง ๆ บริเวณที่ผ่าตัด โดยที่ศัลยแพทย์จะเห็นภาพ 3 มิติตลอดเวลาที่ทำการผ่าตัด ซึ่งทำให้ความแม่นยำในการใส่เครื่องมือเพิ่มมากถึง 99% ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบใหม่นี้ทำให้ลดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดลงอย่างมากและผู้ป่วยสามารถกลับคืนสู่ชีวิตประจำวันปรกติได้เร็วขึ้นมาก
เทคโนโลยี O-arm Navigation ช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังเคลื่อนอย่างไร
เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีรูปร่างและขนาดของกระดูกสันหลังแตกต่างกัน ซึ่งการนำเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี O-arm Navigation เข้ามาช่วยแสดงภาพกระดูกสันหลังอย่างละเอียด ทั้งด้านบน ด้านล่าง และด้านข้าง เป็นแบบสามมิติ พร้อมทั้งวางแผนตำแหน่งวางสกรูอย่างแม่นยำ ทำให้แพทย์ผ่าตัดใส่สกรูและโลหะดามกระดูกได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการ ลดความเสี่ยงจากการใส่สกรูผิดตำแหน่งที่อาจส่งผลให้กระดูกสันหลัง ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบประสาท และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะผ่าตัดได้
เตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังผ่านผิวหนัง TLIF
- ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเช็คร่างกายด้วย การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) และการตรวจเช็คร่างกายทั่วไป
- ผู้ป่วยจะต้องแจ้งประวัติการรักษา อาการแพ้ยา หรือการรักษาอื่นๆ ที่ได้รับอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดหรือยาต้านการจับตัวของลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน และวาร์ฟาริน โดยต้องหยุดใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
ขั้นตอนการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังผ่านผิวหนัง TLIF ร่วมกับการใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี O-arm Navigation
ศัลยแพทย์จะเปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กด้านหลัง ขนาดประมาณ 1 นิ้ว เพื่อทำการคลายการกดทับของเส้นประสาทผ่านอุปกรณ์คล้ายท่อโดยการมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) ที่ช่วยเพิ่มกำลังขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นมาก ทำให้เห็นตำแหน่งที่จะผ่าตัด ได้แก่ กระดูก หมอนรองกระดูก รวมถึงเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงได้อย่างชัดเจน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะสอดอุปกรณ์ซึ่งมีส่วนกระดูกของผู้ป่วยเองอยู่ด้านในเข้าไปเพื่อให้กระดูกเชื่อมติดกันในภายหลัง จากนั้นนำเครื่อง O-arm Navigation เข้ามาใช้เพื่อสร้างภาพสามมิติของกระดูกสันหลัง แสดงตำแหน่งต่างๆ บริเวณที่ผ่าตัด ในการบอกตำแหน่งของสกรูและโลหะดามกระดูก แล้วใช้สกรูยึดเพื่อความแข็งแรงผ่านแผลขนาดเล็กทางผิวหนัง โดยรวมจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง
ข้อดีของการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังผ่านผิวหนัง TLIF ร่วมกับการใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี O-arm Navigation
- แผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก ลดการเจ็บปวดหลังผ่าตัดลงอย่างมาก
- ใช้ระยะเวลานอนรพ.สั้นลง
- ความแม่นยำในการใส่เครื่องมือสูงถึง 99% ไม่กระทบกระเทือนเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง
- ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือดหลังผ่าตัด
- สามารถเริ่มฝึกเดินได้ภายใน 24 ชม.หลังผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม แม้จะทำการผ่าตัดและใส่สกรูและโลหะดามกระดูกตรงข้อกระดูกสันหลังที่มีปัญหาเคลื่อนแล้ว ข้อกระดูกสันหลังข้างเคียงยังมีโอกาสเสื่อมหรือเคลื่อนตามมาทีหลังได้ หากยังใช้กิจวัตรประจำวันหรือใช้งานเหมือนเดิม ดังนั้นการดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนในอนาคตได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง