คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บที่ศีรษะ
ศูนย์ : ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน
อุบัติเหตุถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งการบาดเจ็บรุนแรงที่พบบ่อย คือ การบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยการบาดเจ็บที่เกิดจากแรงที่เข้ามากระทบต่อศีรษะและร่างกายแล้วก่อให้เกิดความบาดเจ็บต่อหนังศีรษะ กะโหลกศีรษะ และ สมอง กับเส้นประสาทสมอง ดังนั้นการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เหมาะสมและทันเวลาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะ ทั้งนี้เมื่อได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตัวเอง และหมั่นสังเกตอาการหลังจากการทำการรักษา ดังนี้
วิธีดูแลและสังเกตอาการทางสมอง
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว ว่าไม่มีข้อบ่งชี้ที่รุนแรงในระดับที่จะต้องพักสังเกตอาการที่โรงพยาบาล
- ห้ามขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- งดออกกำลังกายทุกประเภท
- รับประทานอาหารอ่อน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม
- ไม่ควรสั่งน้ำมูก ไอ จาม แบบรุนแรง
- หากมีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย สามารถรับประทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่งได้
- ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- ผู้ดูแลควรมีความรู้ ความเข้าใจถึงวิธีการสังเกตอาการและวิธีปฏิบัติ
ควรรีบมาพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการดังนี้
- ซึมลงกว่าเดิม หรือหมดสติ
- กระสับกระส่าย มีการพูดที่ผิดปกติจากเดิม
- ชักกระตุก
- แขน ขา อ่อนแรง
- มีไข้
- อาเจียนบ่อย
- การปวดศีรษะ ที่รับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ทุเลา
- มีน้ำใส หรือน้ำใสปนเลือด ไหลออกจากหูจมูก หรือลงลำคอ
- ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก
- เวียนศีรษะ ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
- อาการผิดปกติอื่นๆ ที่น่าสงสัย
บทความทางการแพทย์ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน