ทางเลือกในการรักษาอาการปวดหลังโดยไม่ต้องผ่าตัด
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล
ปวดหลังนับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากในวัยทำงานและวัยสูงอายุ ที่พบได้บ่อยที่สุดในอาการปวดเรื้อรัง บั่นทอนสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุของอาการปวดหลังเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การเคลื่อนไหวร่างกาย ท่าทาง อิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ภาวะความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ผ่าตัดเสมอไป และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้นมาก มีวิธีการรักษาต่างๆ ที่พร้อมช่วยรักษาผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติที่สุด
สัญญาณเตือนอาการปวดหลังที่ควรรีบพบแพทย์
ถึงแม้ว่าอาการปวดหลังอาจต้องใช้เวลากว่าอาการจะทุเลาลง แต่บางครั้งก็อาจมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ทันที ได้แก่
- อาการปวดหลังที่เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเกินกว่า 3 เดือน
- ปวดหลังร้าวลงสะโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า
- อาการปวดเฉียบพลันที่ไม่ทุเลาลงเมื่อได้พัก มีอาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือปวดจนต้องตื่นมากลางดึก
- อาการปวดหลังจากการได้รับบาดเจ็บหรือหกล้ม
- อาการปวดร่วมกับอาการอื่นๆ ได้แก่ ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ขาอ่อนแรง ชาบริเวณขา เท้า หรือรอบทวารหนัก คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และน้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
รักษาอาการปวดหลังแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เป็นการรักษาอาการปวดหลังแบบประคับประคองตามอาการ เพื่อลดอาการปวดเป็นหลัก ทั้งนี้ การรักษาแบบไม่ผ่าตัดนั้นมีหลากหลายวิธี การรักษาแบบหัตถการก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการรักษาแบบไม่ผ่าตัดเช่นกัน ซึ่งประกอบไปด้วย
1. การรักษาแบบประคับประคอง
เป็นการรักษาโดย การรับประทานยา อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล รับประทานแก้ปวดได้ทุก 4-6 ชั่วโมง การทำกายภาพบำบัด ในรายที่มีอาการปวดมากหรือมีอาการปวดเรื้อรัง โดยใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด เพื่อลดอาการปวด และการนอนพัก ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังมากๆ เช่น ปวดหลังเนื่องจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในระยะเฉียบพลัน ควรนอนพักบนที่นอนที่มีลักษณะแน่นและยุบตัวน้อย ซึ่งทำจากนุ่นอัดแข็ง หรือทำด้วยใยกากมะพร้าว
2. การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง
การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง หรือ การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง จะเป็นการฉีดยาผสมระหว่างคอร์ติโคสเตียรอยด์และยาชา ฉีดเข้าไปในโพรงกระดูกสันหลังที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดหลัง ช่วยลดการบวมการอักเสบของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ทำให้การไหลเวียนของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงที่บริเวณเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังดีขึ้น เส้นประสาทยุบบวมจากการอักเสบจึงทำให้อาการปวดหลังของผู้ป่วยดีขึ้น นอกจากนี้การฉีดยายังจะช่วยลดอาการชาและอาการอ่อนแรงอันเนื่องมาจากการอักเสบของเส้นประสาทได้
สามารถใช้ได้ทั้งโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคโพรงประสาทตีบแคบ กระดูกสันหลังเสื่อม หรือกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท และกลุ่มอาการปวดสะโพกร้าวลงขา จากสาเหตุอื่นๆ โดยการรักษาวิธีนี้เป็นหนึ่งในการบรรเทาอาการปวดจากโรคที่มีการกดทับเส้นประสาทซึ่งถือเป็นหนึ่งในการรักษาแบบไม่ผ่าตัดที่ได้ผลดี มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งโดยปกติแล้ว การฉีดยาที่โพรงกระดูกสันหลังสามารถลดอาการปวดได้อย่างน้อย 60-70% ไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง เหมาะกับใคร?
- ผู้ที่มีอาการปวดจนกระทั่งไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้
- ผู้ที่มีอาการปวดจนรบกวนการนอนหลับ
- ผู้ป่วยที่ไม่ประสบผลสำเร็จจากการรักษาแบบอื่นๆ เช่น ยารับประทาน และเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- ผู้ป่วยที่แพทย์แนะนำให้เข้ารับการฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง
3.การลดอาการปวดหลังโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ
การลดอาการปวดหลังโดยการใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือที่เรียกว่า Radiofrequency Ablation (RFA) การจี้เส้นประสาทด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นวิธีการลดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังและบรรเทาอาการปวดบริเวณคอและหลังด้วยการใช้ความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุจี้ตำแหน่งของข้อต่อกระดูก ข้อต่อเชิงกราน หรือเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด เป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
ขั้นตอนในการรักษาจะใช้คลื่นความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation: RFA) จี้ไปยังเส้นประสาทเพื่อขัดขวางการส่งสัญญาณความปวดในไขสันหลังก่อนไปถึงสมอง จะใช้เวลาในการทำหัตถการประมาณ 1 ชั่วโมง และหลังทำหัตถการผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ควรมีผู้ร่วมเดินทางกลับบ้านด้วยและไม่ขับขี่รถยนต์ในวันนั้น
4. การฉีดยาข้อต่อฟาเซ็ตหรือเข้าเส้นประสาทฟาเซ็ต
เป็นการรักษาอาการปวดหลัง ช่วยลดอาการปวดหลังเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบของข้อต่อฟาเซ็ท (Facet) และช่วยยืนยันการวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดหลัง ซึ่งการทำหัตถการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการรักษาโรคปวดหลังแบบไม่ผ่าตัดที่ได้ผลดี มีความเสี่ยงน้อย และเป็นหัตถการที่ทำการรักษาเป็นแบบผู้ป่วยนอกได้
โดยจะใช้การฉีดยาชาที่อาจผสมกับยาเสตียรอยด์ไปบริเวณข้อต่อฟาเซ็ตหรือเส้นประสาทฟาเซ็ตที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุที่ปวด เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาปวดหลังเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบของข้อต่อฟาเซ็ต (Facet joint syndrome) และทำการรักษาด้วยยา หรือกายภาพบำบัดแล้วอาการไม่ทุเลาลง
หากคุณมีปัญหาอาการปวดหลังเรื้อรังและอาการไม่เข้าขั้นรุนแรง แพทย์จะแนะนำแนวทางทางการรักษาอื่นๆ ก่อนการผ่าตัดให้คุณก่อน จนกระทั่งวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเป็นวิธีการสุดท้าย อย่างไรก็ตามเมื่อมีอาการปวดหลัง ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการปวดอาจมีหลายสาเหตุ ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณเตือนอาการเหล่านี้ ควรเริ่มป้องกันและค้นหาต้นตอสาเหตุคือสิ่งที่ดีที่สุด และเมื่อมีอาการแล้วก็ไม่ควรปล่อยไว้นานจนเรื้อรัง เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายแรงได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง