“ท้องผูกสลับท้องเสีย” จุดเริ่มอาการเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
หลายคนมักจะละเลยกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะคิดว่าไม่สำคัญเพียงแค่รับประทานยาอาการเหล่านั้นก็จะบรรเทาไปได้ แต่รู้ไหมว่าอาการบางอย่างกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายที่คุณคาดไม่ถึง อย่างอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ที่เป็นหนึ่งในอาการระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากคุณมีอาการแบบนี้อย่าได้นิ่งนอนใจ รีบหาสาเหตุก่อนจะลุกลาม
สารบัญ
อาการท้องผูกสลับท้องเสีย
เป็นอาการท้องผูกในช่วงระยะหนึ่ง แล้วเปลี่ยนเป็นท้องเสีย แล้วก็กลับมาท้องผูกอีกครั้ง สลับแบบเป็นๆ หายๆ อาการท้องผูกสลับท้องเสีย สามารถเกิดได้ในคนอายุน้อยโดยเป็นหนึ่งในอาการของโรคลำไส้แปรปรวน และยังเป็นหนึ่งในอาการระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่มักพบในคนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป อาจมีประวัติพบคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย
เช็คอาการเบื้องต้นให้แน่ชัด
- การเปลี่ยนแปลงของระบบการขับถ่าย เช็คว่ามีการขับถ่ายเปลี่ยนไป หรือผิดปกติไปจากเดิม อาทิ จากที่เคยอุจจาระทุกเช้าสม่ำเสมอ เกิดอาการไม่อุจจาระในช่วงเช้าเลย มีอาการท้องผูกมากขึ้นกว่าปกติ เช่น ถ่ายยากจนต้องใช้ยาถ่ายและใช้เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการเบ่งอุจจาระมากขึ้นจนกว่าจะถ่ายอุจจาระได้ หรือ ถ้าอยู่ๆ มีอาการท้องเสียวันละ 2-3 ครั้ง โดยหาสาเหตุไม่ได้โดยเฉพาะอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
- สังเกตพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตนเอง เช่น มีทานอะไรที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการท้องเสียหรือไม่ เช่น ทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ทานอาหารรสจัดเกินไป บางรายอาจมีอาการท้องเสียจากการแพ้อาหาร หรือมีการทานน้ำน้อย ทานผักผลไม้ และอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป หรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตนเอง เช่น ปรับเรื่องอาหาร ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลัง หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น หากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารใหม่แล้ว หรือทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกสลับท้องเสีย แต่อาการนั้นกลับไม่ดีขึ้น และยังคงเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ไม่ควยปล่อยปะละเลยให้เกิดขึ้นต่อไปนานๆ โดยเฉพาะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เกิดจากอาการเหล่านี้
สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่
หากมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียร่วมกับอาการอื่นๆ สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ทานอาหารปริมาณเท่าเดิมแต่น้ำหนักกลับลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ถ่ายเป็นเลือด
- ปวดท้อง ไม่ค่อยผายลม รู้สึกแน่นอึดอัดบริเวณช่วงท้องเหมือนมีแก๊สในท้อง ท้องอืด
- เวลาถ่ายอุจจาระมักจะมีอาการถ่ายไม่สุด ขนาดของลำอุจจาระเล็กลง
- คลำพบก้อนในท้องที่บริเวณท้องตอนล่าง
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
หากสังเกตว่าเริ่มมีอาการหลายอย่างของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ข้างต้น โดยเฉพาะ การถ่ายเป็นเลือด หรือนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองค้นหาโรค หากพบระยะเริ่มแรกส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ทั้งนี้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 5 ถึง 10 ปี
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ