ปวดท้องแบบไหนควรส่องกล้องกระเพาะอาหาร
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สุขุมพันธ์ เก่าเจริญ
อาการปวดท้องเป็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายๆ คนก็มีอาการและเลือกที่จะละเลย มองเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ใส่ใจ แต่แท้จริงแล้วอาการปวดท้องอาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติที่กระเพาะอาหารได้ และเมื่อไหร่ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยอาจไม่ดีแน่ หากปล่อยไว้แล้วไม่ได้รับการรักษาจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ฉะนั้นเราสามารถตรวจเช็กได้ด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถเห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ชัดเจน รวมทั้งยังช่วยยืนยันการวินิจฉัย และสามารถยืนยันตำแหน่งและขนาดของแผลที่ตรวจพบได้ นอกจากนี้ยังสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร ได้อีกด้วย
เช็กอาการปวดท้องแบบไหนการส่องกล้องช่วยหาโรคได้
หากมีอาการปวดท้อง ปวดจุกแน่นท้องหรือแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบนหน้าอก หรือบริเวณลำคอ อาการท้องอืดท้องเฟ้อเหมือนอาการไม่ย่อย มีอาการเรอหรือคลื่นไส้อาเจียนบ่อยๆ รวมทั้งมีอาการร่วมที่บ่งชี้ว่าอาจมีโรครุนแรง ควรพิจารณาได้รับการตรวจคัดกรองเพิ่มด้วยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ได้แก่
- อาการปวดท้องเรื้อรังมากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไป
- อาการกลืนติด กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ
- อาการเจ็บคอ คอแห้ง เสียงแหบหรือไอบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
- อาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระปนมูกเลือดหรือเป็นสีดำ
- รับประทานยารักษาโรคกระเพาะอาหารแล้วอาการไม่ทุเลาลง
การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร
การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (EGD) เป็นมาตรฐานเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ อีกทั้ง เป็นการตรวจที่สามารถทำได้ง่ายใช้เวลาไม่นาน โดยการใช้กล้องที่มีลักษณะ เป็นท่อขนาดเล็ก ปรับโค้งงอได้มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 cm ที่ปลายกล้องจะมีเลนส์ขยายภาพ ปลายอีกข้างหนึ่งต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดแสงและส่งภาพมายังจอรับภาพ ส่องเข้าไปในปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ เช่น ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ทำให้ลดความจำเป็น และความเสี่ยงของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งในโรคบางโรคแพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันที
ขั้นตอนในการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
- ผู้รับการตรวจจะได้การพ่นยาชาในลำคอและอาจได้รับการฉีดยาให้หลับ
- ผู้รับการตรวจจะนอนตะแคงซ้าย หลังจากนั้นจะใส่ที่กันกัดเพื่อให้ปากเปิดเล็กน้อย จากนั้นกล้องตรวจกระเพาะอาหารจะถูกใส่ผ่านลงไปยังหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นโดยไม่เจ็บ
- การตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที หรืออาจจะนานกว่านั้นถ้ามีรอยโรคที่ต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจเป็นจำนวนหลายชิ้นมากกว่าปกติ หรือมีการตัดติ่งเนื้อร่วมด้วย หรือมีการห้ามเลือด
- ระหว่างการตรวจ แพทย์จะใส่ลมเล็กน้อยเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะดูดน้ำลายที่ออกมาด้วยเครื่องดูดเสมหะ
- ในตอนสิ้นสุดการตรวจ กล้องส่องกระเพาะอาหารจะถูกนำออกมาอย่างรวดเร็วและง่ายดาย
อาการที่อาจจะเกิดขึ้นหลังได้รับการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
- แน่นอึดอัดท้อง จะทุเลาลง เมื่อได้ผายลม หรือเรอ
- มีภาวะเลือดออกจากตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยปกติแผลจากการตัดชิ้นเนื้อจะมีขนาดเล็กและเลือดหยุดได้เอง แต่ถ้าผู้ป่วยรับประทานยาในกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะเลือดออกภายในกระเพาะได้ ควรแจ้งแพทย์ก่อนส่อง
- เจ็บบริเวณท้องน้อย อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ทุเลาลงและหายไป
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมาก ท้องแข็ง มีไข้สูง ให้รีบมาพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
ทั้งนี้ผู้รับการตรวจจะต้องพักผ่อนในห้องพักฟื้น (Recovery Room) ประมาณ 1-2 ชั่วโมง และสามารถทราบผลการตรวจส่องกล้องได้ในวันเดียวกัน
การส่องกล้องกระเพาะอาหาร นับเป็นเทคนิคหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากในรักษาและการตรวจวินิจฉัย ซึ่งจะช่วยให้พบโรค สาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว และส่งผลให้การรักษาโรคได้ทันเวลา หากพบว่ามีอาการปวดท้องเรื้อรัง รักษาด้วยการรับประทานยาแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาเจียนเรื้อรัง หรือมีพฤติกรรมรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาทำให้ปวดท้องเป็นๆ หายๆ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยการส่องกล้องกระเพาะอาหาร
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ