ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
อาการปวดท้องที่หลายๆ คนมองข้ามและมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วมีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้อาการปวดเหล่านั้นมากมาย ซึ่งอาการปวดแต่ละตำแหน่งมีความแตกต่าง เช่น ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา ปวดบริเวณบั้นเอวขวา ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ ปวดบริเวณบั้นเอวซ้าย เป็นต้น และเป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดโรคของอวัยวะในช่องท้องอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารและตับ เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ โดยอาการปวดท้องเหล่านี้สามารถตรวจเช็คได้ด้วยวิธีทางการแพทย์ อาทิ การส่องกล้องกระเพาะอาหาร การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตรวจตับด้วยวิธีไฟโบรสแกน เพื่อนำมาสู่การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละโรค ตามที่จะกล่าวดังต่อไปนี้
1. ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา
ชายโครงขวา เป็นจุดของตับ และถุงน้ำดี โดยส่วนใหญ่จะพบว่า อาการปวดใต้ชายโครงขวา มักจะมาพร้อมกับโรคนิ่วในถุงน้ำดี บางคนอาจมีอาการท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักเป็นหลังกินอาหารมันๆ ในรายที่ก้อนนิ่วเคลื่อนไปอุดในท่อส่งน้ำดี จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวาหรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา มักปวดนานเป็นชั่วโมงๆ และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย บางคนอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออก เป็นลม อาการปวดท้องมักเป็นหลังกินอาหารมันหรือกินอาหารมื้อหนัก บางคนอาจมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) เกิดขึ้นตามหลังอาการปวดท้อง โดยผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจมีการอักเสบและมีโรคแทรกซ้อนตามมาก็ได้ ที่สำคัญโรคนี้ป้องกันได้ด้วยการลดกินอาหารมีไขมัน และการออกกำลังกายเป็นประจำ
2. ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่
ใต้ลิ้นปี่ หรือกลางตัวเรา ตรงซี่โครงซี่ล่างสุด (กลางตัว) เป็นตำแหน่งของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ และกระดูกลิ้นปี่ ให้ลองสังเกตตัวเองหากปวดเป็นประจำเวลาหิว หรืออิ่ม อาจเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล ซึ่งจะรู้สึกปวดบริเวณท้องส่วนบน อาจเป็นบริเวณลิ้นปี่ลงไปถึงเหนือสะดือหรือปวดค่อนไปทางด้านซ้าย อาจปวดแบบจุกแน่น หรือแสบร้อน และปวดร้าวทะลุไปหลังได้ นอกจากนี้อาจมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อิ่มเร็ว เรอบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน และอาจทำให้รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระได้ด้วย เป็นต้น
จากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกหรือกระดูกอ่อนซี่โครงมีการอักเสบ เช่น จากการไปยกของหนัก หรือจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ใช้กล่ามเนื้อหน้าอกมากไป เช่น ยกเวท วิดพื้น หรือออกกำลังกายผิดท่า หรือเกิดจากอุบัติเหตุกระแทกที่หน้าอกโดยตรง เช่น การถูกต่อย ถูกชก ถูกชน เป็นต้น จะมีจุดกดเจ็บที่ชัดเจน และอาการเจ็บจะสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง นอกจากนี้ หากคลำเจอก้อนเนื้อขนาดใหญ่และค่อนข้างแข็ง อาจหมายถึงตับโต จึงควรรีบมาพบแพทย์
3. ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา
ปวดชายโครงขวา จะตรงกับตำแหน่งของม้าม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
4. ปวดบริเวณบั้นเอวขวา
บั้นเอวขวา ตรงตำแหน่งของท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ หากเป็นอาการของท่อไต ควรสังเกตอาการร่วม เช่น ปวดเอวหรือมีปัสสาวะเป็นเลือดอาจจะเป็นนิ่วที่ไต จะเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างก็ได้ ซึ่งจะมีอาการปวดมากจนเหงื่อออก ปวดร้าวถึงต้นขา การเริ่มต้นของการเป็นนิ่วในท่อไต อาการปวดร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น เป็นกรวยไตอักเสบ หรือหากคลำเจอก้อนเนื้อรีบไปพบแพทย์ และหากเป็นอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบ มักจะมีอาการปวดรุนแรง มีทั้งปวดเรื้องรังและเฉียบพลัน
5. ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ
ปวดรอบสะดือ ตรงกับตำแหน่งลำไส้เล็ก หากกดแล้วปวดมาก คืออาการไส้ติ่ง เรารู้กันดีว่าอาการปวดท้องไส้ติ่งมักจะบอกเป็นอาการปวดท้องด้านขวา ทว่าอาการเริ่มแรกของโรคไส้ติ่งอักเสบก็คืออาการปวดท้องรอบ ๆ สะดือ โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ รอบ ๆ สะดือ คล้ายอาการปวดถ่ายท้องเสีย หรือบางคนก็มีอาการปวดท้องเหนือสะดือร่วมกับถ่ายเหลว หรือท้องเสียด้วย หลังจากนั้นอาการปวดท้องจะย้ายตำแหน่งมาที่ท้องน้อยด้านขวา และมีอาการปวดรุนแรงจนทนไม่ไหว ซึ่งต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน
6. ปวดบริเวณบั้นเอวซ้าย
ปวดบั้นเอวซ้าย เป็นตำแหน่งท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ หากมีอาการปวดมากมักจะเป็นอาการของลำไส้ใหญ่อักเสบ หากปวดร้าวถึงต้นขาก็อาจเป็นอาการของนิ่วในท่อไตและหากปวดร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่นด้วย ปัสสาวะขุ่นอาจเป็นอาการของกรวยไตอักเสบ ให้รีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้หากคลำเจอก้อนเนื้อ ควรรีบพบแพทย์ทันที
7. ปวดบริเวณท้องน้อยขวา
ปวดท้องน้อยขวา เป็นตำแหน่ง ไส้ติ่ง ท่อไต และปีกมดลูก หากปวดเกร็งเป็นระยะ ๆ แล้วร้าวมาที่ต้นขาจะเป็นอาการของกรวยไตอักเสบ หากปวดเสียดตลอดเวลากดแล้วเจ็บมาก สิ่งที่จะนึกถึงและเป็นไปได้คือ ไส้ติ่งอักเสบ และหากปวดร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น มีตกขาวมักจะเป็นอาการของปีกมดลูกอักเสบ นอกจากนี้ให้สังเกตดวยการคลำด้วย หากพบก้อนที่ท้อง ควรรีบมาพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
8. ปวดบริเวณท้องน้อย
ปวดท้องน้อย ตรงตำแหน่งกระเพาะปัสสาวะ และมดลูก
- ปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ หรือถ่ายกะปริบกะปรอย : กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ปวดเกร็งเวลามีประจำเดือน ผู้หญิงที่แต่งงาน ไม่มีลูกแล้วมีอาการปวดเรื้อรัง : อาการมดลูกผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์
8. ปวดบริเวณท้องน้อยซ้าย
ปวดท้องน้อยซ้าย ตำแหน่ง ปีกมดลูก และท่อไต
- ปวดเกร็งเป็นระยะและร้าวมาที่ต้นขาอาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดนิ่วในท่อไต
- ปวดร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น ตกขาว จะเป็นอาการการอักเสบของมดลูก
- ปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติมักจะเป็นความผิดปกติของลำไส้ใหญ่
- และหากคลำพบก้อนร่วมกับอาการท้องผูกเป็นประจำอาจจะเกิดเนื้องอกในลำไส้และอาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ได้ในอนาคต
อาการร่วมที่จะต้องมาพบแพทย์ ที่ไม่ใช่เพียงอาการปวดท้อง
ไม่ว่าอาการปวดท้องตรงกลางที่เป็นอยู่จะบอกถึงโรคอะไรก็ตามแต่ ในกรณีที่ปวดท้องบ่อยๆ ปวดเป็นๆ หาย ๆ ก็ไม่ควรชะล่าใจ ยิ่งหากมีอาการปวดท้องร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ
- ปวดนานมากกว่า 6 ชั่วโมงแล้วอาการเป็นมากขึ้น
- ปวดจนกินอาหารไม่ได้
- ปวดท้องและอาเจียนอย่างมาก มากกว่า 3-4 ครั้ง
- ปวดท้องมากขึ้นเมื่อขยับตัว
- ปวดที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา
- ปวดท้องรุนแรง นอนไม่ได้
- ปวดร่วมกับเลือดออกจากช่องคลอด
- ปวดท้องมีไข้ร่วมด้วย
วิธีการตรวจคัดกรองอาการปวดท้อง ร่วมกับ ความผิดปกติอื่นๆ
วิธีการตรวจคัดกรองอาการปวดท้อง ร่วมกับ ความผิดปกติอื่นๆ สามารถตรวจได้ดังนี้
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นการใช้กล้องที่มีลักษณะ เป็นท่อขนาดเล็ก ปรับโค้งงอได้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ที่ปลายกล้องจะมีเลนส์ขยายภาพ ปลายอีกข้างหนึ่งต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดแสงและส่งภาพมายังจอรับภาพ ส่องเข้าไปในปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อการวินิจฉัยโรคหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ในกรณีที่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง ปวดท้องจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ ร่วมกับมีอาการกลืนลำบาก อาเจียนเป็นเลือด แสบท้อง เป็นต้น
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นการใช้กล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก โค้งงอได้ ที่ปลายกล้องมีเลนส์ขยายภาพ ปลายอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดแสง แล้วส่งภาพมายังจอรับภาพ ส่องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง ส่วนต้นและลำไส้เล็กส่วนปลาย ตรวจในกรณีที่มีอาการปวดบั้นเอวซ้าย ร่วมกับการมีอาการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสียเป็นประจำ หรือท้องผูกสลับท้องเสีย มีการถ่ายอุจจาระปนเลือด ถ่ายเป็นเลือดหรืออุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือผู้ที่มีก้อนในท้อง น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีอาการทางเดินอาหารและตับที่สัมพันธ์กับอาการปวดท้องร่วมด้วย ได้แก่ ภาวะไขมันพอกตับ สืบเนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป เช่น การรับประทานของทอด ของมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารไขมันสูง ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ นำไปสู่การเกิดไขมันสะสมที่ตับ กลายเป็นภาวะไขมันพอกตับ จนนำไปสู่การเกิดพังผืดที่ตับซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคตับแข็งและเสี่ยงต่อมะเร็งตับได้ในที่สุด
ซึ่งภาวะไขมันพอกตับสามารถตรวจได้ด้วยเครื่องไฟโบรสแกน(Fibroscan) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยประเมินปริมาณไขมันในตับรวมถึงระดับพังผืดในเนื้อตับ และตับแข็งโดยเฉพาะ โดยจะใช้เวลาเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น ในขณะตรวจอาจจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับปลายหัวตรวจเล็กน้อยเท่านั้น
อาการเหล่านี้จะต้องรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ทำให้รักษาได้ตรงจุด และจะส่งผลให้ประสบผลสำเร็จด้านการรักษามากยิ่งขึ้น ปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์ได้ที่กล่องข้อความด้านล่างได้เลยค่ะ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ