ปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเสี่ยงโรคกระดูกสันหลัง
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. ทวีชัย จันทร์เพ็ญ
อาการปวดสะโพก สามารถเกิดจากการระคายเคือง การอักเสบ หรือการบีบรัดหรือการกดทับของเส้นประสาทบริเวณหลังส่วนล่าง คนส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดสะโพกสามารถทุเลาได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์จากการรับประทานยาและการดูแลตนเอง แต่หากมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica Pain) หรืออาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ มาพร้อมกับอาการชาที่ขาร่วมด้วยเป็นสัญญาณอันตราย อาจเกิดจากโรคกระดูกสันหลังที่มีหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือเกิดจากกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทได้ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานอาการอาจรุนแรงมากขึ้น
ปวดสะโพกร้าวลงขาเป็นอย่างไร
อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica Pain) กลุ่มอาการปวดที่เกิดจากบริเวณหลัง เริ่มต้นบริเวณช่วงเอวหรือสะโพก และมีความปวดร้าวไปถึงช่วงขาด้านหลัง ปวดร้าวลงขา ในบางรายอาจร้าวไปถึงน่องหรือเท้า โดยอาการปวดร้าวลงขานั้น มักสัมพันธ์กับเส้นประสาท Sciatic ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักที่มีจุดเริ่มต้นจากข้อกระดูก L4-L5 และทอดผ่านลงสะโพก ก้น และลงขาจนถึงปลายเท้า ดังนั้นเมื่อเส้นประสาท Sciatic ถูกรบกวน อาการปวด หรือชาร้าวลงขาจะเกิดขึ้นตามมาได้
นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตั้งแต่ก้น ต้นขา จนถึงปลายเท้า หรืออาจมีอาการชา แปล๊บๆ คล้ายไฟช็อต และหากเส้นประสาทถูกกดทับเป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยอาจมีอากาขาอ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อลีบร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง
สาเหตุอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
อาการปวดสะโพกร้าวลงขา เกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
1. พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
โดยอาการปวดสะโพกร้าวลงขา มักจะเป็นอาการที่สะสมเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน จนร่างกายไม่สามารถทนไหว จึงเริ่มแสดงอาการออกมา ได้แก่
- การยกของหนัก หรือยกของผิดจังหวะ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่หลัง และเมื่อผ่านไปนานๆ อาจเกิดพังผืดเข้าไปยึดเกาะบริเวณที่บาดเจ็บนี้ จนไปรบกวนหมอนรองกระดูกสันหลังได้
- การนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการบาดเจ็บเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง บริเวณสะโพก ก้น ถูกแรงกดทับอย่างต่อเนื่อง จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวเกิดการเกร็งตัวและเกิดปม trigger point ขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดในบริเวณหลัง หรือก้นตามมา และหากปม trigger point ไปหนีบหรือไปรบกวนเส้นประสาท Sciatic จะส่งผลเกิดอาการปวดก้นร้าวลงต้นขาด้านหลัง หรือที่เรียกว่าอาการกล้ามเนื้อก้นหนีบเส้นประสาทได้
- การบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย หรืออุบัติเหตุต่างๆ เช่น การหกล้มก้นกระแทก หรือการได้รับแรงกระแทกบริเวณสะโพกโดยตรง
2. ปวดสะโพกร้าวลงขาเกิดจากโรคที่เป็นสาเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
2.1 กลุ่มอาการปวดที่เกิดจากบริเวณหลัง
- โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เกิดจากกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากจนเคลื่อนหรือปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาท และหากเกิดการกดทับข้อกระดูกสันหลังส่วนล่าง หรือ ข้อ L4 เป็นต้นไป ก็มักจะมีการกดทับเส้นประสาท Sciatic ผู้ป่วยจึงมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดสะโพก ปวดร้าวลงขา หรือมีอาการขาชา และชาปลายเท้าร่วมด้วย
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้มีกระดูกงอกหรือเคลื่อนมาทับเส้นประสาท
- โรคกระดูกหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือด้านหลังมากกว่าปกติ โดยส่วนมากมักพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 เนื่องจากข้อกระดูกสันหลังส่วนนี้จะรับน้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้
- โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก เส้นเอ็น และข้อต่อ เมื่อมีการเสื่อมอวัยวะเหล่านี้จะขยายขนาดขึ้นก็จะทำให้โพรงประสาทที่มีเส้นประสาทอยู่ด้านในถูกเบียดหรือกดทับได้
2.2 กลุ่มอาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากบริเวณหลัง
- กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis) เกิดจากกล้ามเนื้อก้นชั้นลึกที่ชื่อว่า Piriformis เกิดการเกร็งตัวจนไปบีบรัดทางเดินของเส้นประสาท Sciatic ที่ลอดผ่านใต้มัดกล้ามเนื้อ และเมื่อกล้ามเนื้อเกร็งตัวมาก จึงไปกดเบียดทางเดินของเส้นประสาท ทำให้เส้นประสาททำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีอาการปวดสะโพก ปวดก้น ปวดร้าวสะโพกร้าวลงขา หรืออาจมีอาการชาขาร่วมด้วย
- โรคของข้อกระดูกเชิงกรานอักเสบหรือเสื่อม (Sacroiliac Joint Dysfunction) เป็นการอักเสบของข้อต่อ Sacroiliac Joint ซึ่งเป็นข้อต่ออุ้งเชิงกราน ที่อยู่บริเวณก้นกบกับสะโพก ส่งผลให้เกิดพังผืดยึดเกาะบริเวณข้อต่อนี้ ทำให้ข้อยึดล็อค และเกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้เช่นเดียวกัน
ปวดสะโพกร้าวลงขาแบบไหนควรรีบพบแพทย์
- มีอาการปวดหลังเรื้อรังมานานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป โดยอาการไม่บรรเทามีแต่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
- มีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง พร้อมทั้งอาจมีอาการขาชา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง
- ปวดขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ปวดรุนแรงมากตอนกลางคืน กระดกข้อเท้าไม่ได้ มีปวดขา ขาชาและขาอ่อนแรงชัดเจน ขาลีบเล็กลง ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้หรือปัสสาวะไม่ออก
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
สำหรับการตรวจวินิจฉัยอาการปวดสะโพกร้าวลงขา แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว สามารถบอกขอบเขตของโรคได้ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาโรคต่อไปได้ ให้ภาพคมชัด ละเอียด แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
แนวทางการรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
การรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค หรือโรคที่เป็นสาเหตุ ดังนี้
1. การรักษาแบบประคับประคอง จะเป็นการรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ดังนี้
- การให้ยากลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ (muscle relaxant) เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
- การประคบร้อน ประคบเย็น เพื่อลดอาการอักเสบ
- • การทำกายภาพบำบัด โดยการออกกำลังกายเพื่อยืดเหยียดและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อช่วยในการฟื้นฟูลดปวดคลายกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นเลย หรืออาการปวดไม่หายไปในเวลา 3 เดือน อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่
- การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง เพื่อลดอาการปวดหลังเรื้อรัง ลดอาการอักเสบและบวมของปมประสาทที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
- การใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือที่เรียกว่า Radiofrequency Ablation (RFA) ลดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลัง และบรรเทาอาการปวดบริเวณคอและหลังด้วยการใช้ความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุจี้ตำแหน่งของข้อต่อกระดูก ข้อต่อเชิงกราน หรือเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด
2. การผ่าตัดรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
การผ่าตัดรักษาอาการปวดสะโพกร้าวลงขาผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) ในกรณีมีหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท และทำการรักษาแบบประคับประคองแล้วไม่เป็นผลสำเร็จ หรือ มีอาการมากขึ้น โดยการผ่าตัดจะทำผ่านกล้องเอ็นโดสโคปความละเอียดสูงโดยสอดกล้องผ่านแผลเล็กๆ ทางผิวหนังเข้าไปยังกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่มีแผลผ่าตัดเล็ก อาการปวดแผลผ่าตัดน้อย ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว
อาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดสะโพกร้าวลงขา
อาการปวดสะโพก หรือ ปวดหลัง ส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการปวดเรื้อรังยาวนาน อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดสะโพกได้ หากเส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานานอาจเกิดอาการต่างๆ ได้ เช่น ปวดรุนแรงมากตอนกลางคืน กระดกข้อเท้าไม่ได้ มีปวดขา ขาชาและขาอ่อนแรงชัดเจน ขาลีบเล็กลง ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้หรือปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขา ควรหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ทันที แล้วสังเกตอาการตัวเองว่าเป็นอย่างไร ถ้าพักสักระยะหนึ่งแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น หรือถ้าปวดมากร่วมกับรู้สึกว่ามีการชาหรืออ่อนแรงของขาร่วมด้วย แนะนำว่าควรมาพบแพทย์
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพ็กเกจ/โปรโมชั่น
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง