ปวดหลังเรื้อรัง อันตราย อย่ามองข้าม อาจนำไปสู่โรคกระดูกสันหลัง
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. ทวีชัย จันทร์เพ็ญ
อาการปวดหลังเรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทั่วไป และพบได้บ่อยมากขึ้น ทั้งจากพฤติกรรมการยืน นั่ง นอน อาชีพการทำงาน โดยคนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากอาการปวดหลังบ้าง ซึ่งลักษณะการปวดหลังเรื้อรังนั้นสามารถเป็นได้ตั้งแต่การปวดแบบธรรมดาแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการปวดแบบเฉียบพลัน แต่ก็มีหลายคนที่อาการปวดหลังเรื้อรังมีความรุนแรง กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้ หรือมีอาการปวดหลังร้าวลงขา อาการชาตามมา อาจนำไปสู่โรคที่ร้ายแรงเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ หากปล่อยไว้นานอาจถึงขั้นเคลื่อนไหวไม่ได้ ระบบการขับถ่ายผิดปกติ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษาโดยทันที
ปวดหลังเรื้อรังเป็นอย่างไร
โดยปกติอาการปวดหลังจากกล้ามเนื้ออักเสบในบุคคลทั่วไปสามารถทุเลาได้เองในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ และมักจะมีอาการค่อยๆ ดีขึ้น หลังจากได้รับการรักษา แต่สำหรับอาการปวดหลังเรื้อรั้งนั้นจะเป็นอาการปวดหลังที่ไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ปวดหลังเป็นๆ หายๆ ปวดหลังอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน หรืออาการปวดหลังดังกล่าวไม่บรรเทามีแต่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
สาเหตุอาการปวดหลังเรื้อรัง
อาการปวดหลังเรื้อรัง ที่มาจากปัญหาของกระดูกสันหลัง ได้แก่
- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งสามารถพบได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่ปัจจุบันพบบ่อยที่สุดในกลุ่มวัยทำงาน เกิดจากการฉีกขาดของเปลือกหมอนรองกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง เวลาไอ จาม หรือเบ่งจะยิ่งปวด และหากส่วนเนื้อด้านในปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทซึ่งอยู่ด้านหลังหมอนรองกระดูก ก็จะทำให้มีอาการปวดหลังร้าวลงขาร่วมด้วย
- กระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากความเสื่อมตามวัย ของข้อต่อกระดูกสันหลัง ทำให้มีกระดูกงอกหรือเคลื่อนมาทับเส้นประสาทส่งผลให้มีปวดหลังเรื้อรัง หรือปวดหลังร้าวจนเกิดอาการปวดขาตามมา ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ
- กระดูกหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือด้านหลังมากกว่าปกติ โดยส่วนมากมักพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 เนื่องจากข้อกระดูกสันหลังส่วนนี้จะรับน้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง มักเกิดในขณะที่มีการขยับหลังมาก เช่น การก้ม เงย หรือเดิน
- โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะในกระดูกสันหลัง ทั้งหมอนรองกระดูก เส้นเอ็น และข้อต่อ เมื่อมีการเสื่อมอวัยวะเหล่านี้จะขยายขนาดขึ้นก็จะทำให้โพรงประสาทที่มีเส้นประสาทอยู่ด้านในถูกเบียดหรือกดทับได้ ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งอาการปวดมักอยู่ที่ส่วนกลางของเอวและมักเป็นมากขึ้นในท่ายืน เดิน หรือเมื่อมีการแอ่นหลังไปด้านหลังมากๆ
ปวดหลังเรื้อรังแบบไหนอันตราย ควรรีบพบแพทย์
- มีอาการปวดหลังเรื้อรังมานานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป โดยอาการไม่บรรเทามีแต่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
- มีอาการปวดหลังร้าวลงขาติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง พร้อมทั้งอาจมีอาการขาชา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง
- ปวดขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ปวดรุนแรงมากตอนกลางคืน กระดกข้อเท้าไม่ได้ มีปวดขา ขาชาและขาอ่อนแรงชัดเจน ขาลีบเล็กลง เบื่ออาหารและน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้หรือปัสสาวะไม่ออก
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังเรื้อรัง
สำหรับการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังเรื้อรัง แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว สามารถบอกขอบเขตของโรคได้ ทำให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาโรคต่อไปได้ ให้ภาพคมชัด ละเอียด แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง
การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง มีแนวทางการรักษาหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และโรคที่เป็น โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
- การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังแบบประคับประคอง - จะเป็นการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังในระยะแรก ด้วยการรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด พร้อมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลย หรืออาการปวดไม่หายไปในเวลา 3 เดือน อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นๆ
- การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังแบบไม่ต้องผ่าตัด
- การฉีดยาเข้าที่โพรงกระดูกสันหลัง เพื่อลดอาการปวดหลังเรื้อรัง ลดอาการอักเสบและบวมของปมประสาทที่เกิดจากหมอนรองกระดูกกดทับหรือโพรงประสาทตีบ
- การฉีดยาข้อต่อฟาเซ็ตหรือเข้าเส้นประสาทฟาเซ็ต จะใช้การฉีดยาชาที่อาจผสมกับยาเสตียรอยด์ไปบริเวณข้อต่อฟาเซ็ตหรือเส้นประสาทฟาเซ็ตที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุที่ปวดหลังเรื้อรัง
- การใช้คลื่นความถี่วิทยุ หรือที่เรียกว่า Radiofrequency Ablation (RFA) ลดการอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลัง และบรรเทาอาการปวดบริเวณคอและหลังด้วยการใช้ความร้อนที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุจี้ตำแหน่งของข้อต่อกระดูก ข้อต่อเชิงกราน หรือเส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด
- การรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังแบบผ่าตัด จะทำในกรณีรักษาแบบวิธีที่ 1 และ 2 แล้วอาการไม่ดีขึ้น และมีอาการรุนแรงมากขึ้น
- การผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป การผ่าตัดจะทำผ่านกล้องเอ็นโดสโคปความละเอียดสูงโดยสอดกล้องผ่านแผลเล็กๆ ทางผิวหนังเข้าไปยังกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่มีแผลผ่าตัดเล็ก อาการปวดแผลผ่าตัดน้อย ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว หรือ TLIF จะรักษาในกรณีที่มีภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนเป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะยึดตรึงกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็กบนผิวหนัง โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด แสดงตำแหน่งต่างๆ บริเวณที่ผ่าตัด ซึ่งทำให้ความแม่นยำในการใส่เครื่องมือเพิ่มมากถึง 99%
- การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) เป็นการฉีดซีเมนต์ผ่านผิวหนัง ผ่านทางแผลเล็กๆ ที่มีขนาดราวหลอดกาแฟ เข้าไปเสริมกระดูกส่วนที่หักโดยไม่ต้องยึดสก
เมื่อพบว่ามีอาการปวดหลังเรื้อรังไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการปวดอาจมีหลายสาเหตุ หากว่าอาการปวดเหล่านั้น เป็นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือเป็นๆหายๆ หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อหาสาเหตุและรักษาก่อน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายแรงได้ หรือสอบถามปัญหาสุขภาพออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย กับ รพ.นครธน ได้ที่ด้านล่าง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง