ไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบซี ผู้ป่วยเสี่ยงตับแข็ง มะเร็งตับ
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
ไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกาย อาการจะไม่รุนแรง ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่าตนเองเริ่มมีอาการตับอักเสบแล้ว ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซี จะทราบได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วพบค่าการอักเสบของตับผิดปกติ และตรวจเลือดพบการติดเชื้อ ด้วยความที่ไม่ปรากฏอาการ หรืออยู่ในช่วงโรคสงบหรือการอักเสบไม่มากมักไม่ก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจน จึงทำให้หลายคนมองข้ามและลืมฉีดวัคซีนทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี
- ไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อหลักทางเลือด เพศสัมพันธ์ การสักตามร่างกาย เจาะหูหรืออวัยวะต่างๆ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน อาจติดจากมารดาสู่ทารก ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีบางรายมีภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยง่าย ตัวเหลือง ตาเหลือง อาการพวกนี้จะดีขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และผู้ป่วยส่วนมาก จะไม่กลับมาเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีอีก ในทางกลับกันในผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ ไวรัสที่เหลืออยู่มากก็จะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและมีพังผืดเกิดขึ้นมาแทนที่
- ไวรัสตับอักเสบซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่ติดต่อทางการไอจามรดกัน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำด้วยกัน และการใช้ถ้วยชามร่วมกัน ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในระยะแรกจะไม่ค่อยมีอาการ จะดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป และอาจมีอาการเหมือนโรคทั่วไป เช่น เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลีย หรือมึนงง เป็นต้น
ทำไมผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และซี เสี่ยงตับแข็ง มะเร็งตับ?
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี และซีส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เนื่องจากมักไม่แสดงอาการ จะดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจมีอาการน้อยและอาการเหมือนโรคทั่วไป เช่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะสีเข้ม เป็นต้น จึงไม่ได้สนใจ หากไม่ได้ไปพบแพทย์หรือตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับก็จะไม่ทราบว่าตนเองมีตับอักเสบเรื้อรัง จนโรคจะดำเนินไปจนเข้าสู่ระยะตับแข็ง และส่งผลทำให้เกิดโรคมะเร็งตับในที่สุด
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ?
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ในเบื้องต้นสามารถทำเองได้โดยการสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่าตัวเองมีโอกาส มีความเสี่ยง หรือพบว่ามีอาการของไวรัสตับอักเสบ ให้ไปพบแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด การตรวจอัลตราซาวด์ตับและการตรวจพังผืดในตับ (Fibroscan)
การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซี
การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้เอง แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง และดื่มน้ำในปริมาณมากๆ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้ในการกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่
หากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคตับที่รุนแรง และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วย ใช้การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาอินเตอร์เฟอรอน เป็นต้น
การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื้อรัง ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะกลายเป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของตับ ปัจจุบันมียาต้านเชื้อไวรัสชนิดรับประทานที่ได้ผลดี สามารถรักษาจนหายขาดได้ ถ้าหากตับวาย หรือมะเร็งตับ แพทย์จะไม่รักษาด้วยยารักษาไวรัสตับอักเสบซี เพราะจะเน้นที่การรักษามะเร็งมากกว่า หรือหากมีภาวะตับวายการรักษาจะมีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
การดูแลตนเองเมื่อเป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ
ถ้าเป็นไวรัสตับอักเสบแบบเฉียบพลัน สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทำคือ พักผ่อนให้มาก ดูแล สุขภาพให้ดี ไม่นานก็หายเป็นปกติ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นแบบเรื้อรัง แพทย์ก็จะตรวจละเอียดมากขึ้นเพื่อให้ทราบถึงการดำเนินของโรค และรายละเอียด ของการรับเชื้อ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาอย่าง เหมาะสมต่อไป พร้อมกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบควรปฏิบัติตัวดังนี้
- รับประทานอาหารเหมาะสม เป็นอาหารที่ถูกสุขอนามัย สะอาดและครบทุกหมู่
- หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมที่ไม่จำเป็น รวมถึงยาสมุนไพร ยาลูกกลอนต่างๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับได้ รวมไปถึงเลี่ยงยาประเภทสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้ไวรัสตับอักเสบเพิ่มปริมาณมากขึ้น และกดภูมิต้านทาน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด พร้อมออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควรตรวจเลือดทุก 3-6 เดือนและตรวจอัลตราซาวด์ทุก 6-12 เดือน
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะช่วยลดปริมาณของไวรัส ลดการอักเสบของตับ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้ ทำให้สมรรถภาพการทำงานของตับดีขึ้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ