ปวดคอร้าวลงแขน รักษาด้วยผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทผ่านกล้อง (ACDF)
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล
หากมีอาการปวดคอร้าวลงแขน หรือมีอาการอ่อนแรงและชาร่วมด้วยมักเกิดจากหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทไขสันหลัง หากรักษาด้วยวิธีเบื้องต้น เช่น การทำกายภาพบำบัด ควบคู่กับการรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดคลายการกดทับเส้นประสาทโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า (ACDF) อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการปวดและผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรต่างๆ ได้ตามปกติโดยเร็ว
อาการปวดคอพบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากหลากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือ การมีภาวะกระดูกคอเลื่อม แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการปวดคอร้าวลงแขน หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและชาร่วมด้วย ลักษณะนี้เป็นอาการแสดงที่เกิดจากเส้นประสาทสันหลังส่วนคอถูกรบกวน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือชาลงมาตามบริเวณแขน ข้อศอก หรือนิ้วมือได้ ซึ่งเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทไขสันหลัง หากรักษาด้วยวิธีประคับประคองแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดคลายการกดทับเส้นประสาทโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า (ACDF) อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการปวดคอร้าวลงแขน และผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรต่างๆ ได้ตามปกติโดยเร็ว
ปวดคอร้าวลงแขน สัญญาณหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
อาการปวดคอร้าวลงแขน เป็นสัญญาณที่เกิดจากหมอนรองกระดูกส่วนคอหรือกระดูกคอมีการเสื่อมสภาพ หรือทรุด จนทำให้มีการปลิ้นของหมอนรองกระดูกคอออกมากดทับเส้นประสาท ซึ่งเส้นประสาทนี้ทอดยาวไปตามแขนถึงปลายนิ้วมือทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน มีอาการชา และกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามเส้นประสาทที่ถูกกดได้ นอกจากนี้ หากมีการกดทับเส้นประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนใด จะส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นลีบลง บางรายมีอาการปวดหัว มีไข้ ตาพร่า ปวดรอบกระบอกตา ลมออกหู หายใจไม่เต็มอิ่ม คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย
สาเหตุอาการปวดคอร้าวลงแขนจากหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่มีปัญหาอาการปวดคอร้าวลงแขนจากหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท ในผู้ที่มีอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าอาจมีสาเหตุจากการมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวัยทำงานมีการนั่งโต๊ะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ รวมทั้งการใช้งานคอหนักๆ โดยการก้มเงยสุดๆ หรือการโยกคอแรงๆ เวลาร้องเพลงหรือเต้นรำ หรือการก้มเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือก้มอ่านหนังสือเป็นระยะเวลานาน เหล่านี้ส่งผลให้หมอนรองกระดูกคอต้องรับภาระที่มากขึ้นกว่าปกติ และทำให้เสื่อมเร็วกว่าปกติ การเสื่อมในที่นี้จะไม่ได้ทำให้เกิดอาการในทันที แต่จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากยังทำกิจกรรมในลักษณะเดิมต่อเนื่องนานๆ และปฏิบัติตัวไม่ถูกวิธี ก็จะเร่งอาการเสื่อมของกระดูกคอให้มีมากขึ้น จนวันหนึ่งหมอนรองกระดูกอาจจะฉีกขาดและปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทในที่สุด ซึ่งบางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นปวดคอร้าวลงแขน และปวดมากจนขยับคอไม่ได้
- การนั่งโต๊ะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
- การใช้งานคอหนักๆ โดยการก้มเงยสุดๆ หรือการโยกคอแรงๆ
- การก้มเล่นโทรศัพท์มือถือ
- การก้มอ่านหนังสือเป็นระยะเวลานาน
ลักษณะเหล่านี้ส่งผลให้หมอนรองกระดูกคอต้องรับภาระที่มากขึ้นกว่าปกติ และทำให้เสื่อมเร็วกว่าปกติ การเสื่อมในที่นี้จะไม่ได้ทำให้เกิดอาการในทันที แต่จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากยังทำกิจกรรมในลักษณะเดิมต่อเนื่องนานๆ และปฏิบัติตัวไม่ถูกวิธี ก็จะเร่งอาการเสื่อมของกระดูกคอให้มีมากขึ้น จนวันหนึ่งหมอนรองกระดูกอาจจะฉีกขาดและปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทในที่สุด ซึ่งบางรายมีอาการรุนแรงถึงขั้นปวดคอร้าวลงแขน และปวดมากจนขยับคอไม่ได้
อาการเตือนหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท ควรมาปรึกษาแพทย์
นอกจากอาการปวดคออย่างรุนแรงแล้ว การกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขนอย่างรุนแรง หรือปวดร้าวลงมาตามนิ้วมือด้วย หากการกดทับรุนแรง หรือปล่อยทิ้งไว้นานก็จะทำให้เกิดอาการชาและอ่อนแรงของแขนในที่สุด หากมีอาการเหล่านี้ ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยทันที
- ปวดคอ และจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว
- มีอาการคอเกร็ง ขยับและเคลื่อนไหวลำบาก
- ปวดคอร้าวลงแขน มากกว่า 1 เดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น
- แขนอ่อนแรง และมีอาการชาร่วมด้วย
การผ่าตัดรักษาอาการปวดคอร้าวลงแขน
หากวินิจฉัยว่ามีอาการปวดคอร้าวลงแขนจากหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท และเคยรักษาแบบไม่ผ่าตัดทุกวิธีเป็นเวลามากกว่า 6-8 สัปดาห์ หรือเริ่มมีอาการของกล้ามเนื้อแขนหรือมือที่อ่อนแรง อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าเส้นประสาทเริ่มสูญเสียการทำงานแล้ว ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบรับการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเข้ารับการทำ MRI เพื่อตรวจวินิจฉัย และทำการผ่าตัดเพื่อรักษาการทำงานของเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
ปัจจุบัน การผ่าตัดคลายการกดทับเส้นประสาทโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอจากทางด้านหน้า (Anterior Cervical Discectomy And Fusion; ACDF) เป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนกับอาการปวดคอร้าวลงแขนอีกต่อไป
การรักษาข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้าโดยการผ่าตัด
การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า (Anterior Cervical Discectomy And Fusion; ACDF) เป็นการผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลังโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าหากัน ใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally invasive surgery) ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ที่เรียกว่า Microscope โดยแผลผ่าตัดจะอยู่ที่คอด้านหน้ามีลักษณะของแผลเป็นเส้นตรง ขนาดราว 3 ซม. ซึ่งศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านช่องว่างของกล้ามเนื้อโดยไม่จำเป็นต้องตัดกล้ามเนื้อออกเลย จากนั้นจะทำการคลายการกดทับของเส้นประสาทผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ แล้วจึงใส่อุปกรณ์สำหรับเชื่อมกระดูกเข้าไป โดยอาจเป็นกระดูกเทียม หรือเป็นชิ้นส่วนกระดูกของผู้ป่วยเองก็ได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจทำการยึดกระดูกเทียมด้วยสกรูเพื่อเสริมความแข็งแรงอีกด้วย
ข้อดีในการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า
เป็นการผ่าตัดที่มีความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยมาก เนื่องจากไม่มีการตัดกล้ามเนื้อออกเลย ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างผ่าตัด ใช้ระยะพักฟื้นสั้น ฟื้นตัวเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายในการพักฟื้น สามารถกลับไปเคลื่อนไหวใช้ชีวิตได้ตามปกติไวขึ้น เป็นการผ่าตัดมาตรฐานที่ให้ผลสำเร็จสูง
การดูแลสุขภาพเพื่อลดอาการปวดคอร้าวลงแขน
อาการปวดคอร้าวลงแขน มักเกิดจากปัญหาหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท เริ่มจากพฤติกรรมและการใช้งานหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่าทาง ในชีวิตประจำวันก็จะช่วยลดความเสี่ยงหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือ ชะลอการเสื่อมตัวของกระดูกคอหรือไม่ให้เสื่อมตัวเร็วเกินไป ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอ หรือสะบัดคอบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องก้ม-เงยศีรษะบ่อยๆ
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เมื่อต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- ไม่ควรนอนหมอนสูงเกินไป หรือเลิกหนุนหมอนสูงๆ เพื่อให้คอทำงานหนักน้อยลง
- บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงสม่ำเสมอ
โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท แม้ในตอนต้นจะมีความเจ็บปวดรุนแรง และผู้ป่วยส่วนมากมักจะบอกว่าเป็นอาการเจ็บที่สุดที่เคยเจอมาในชีวิต แต่อาการเจ็บรุนแรงนี้มักจะหายไปได้เองหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และหากมีอาการปวดคอร้าวลงแขนควรเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อให้เราปลอดภัยจากโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง