ภาวะตับแข็ง จากแอลกอฮอล์และไวรัสตับอักเสบ
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโรคไวรัสตับอักเสบ ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อร่างกาย ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรง ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และยังทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ตับแข็งคืออะไร
ตับแข็ง เป็นผลมาจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลายจากหลายสาเหตุต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง เกิดพังผืดในเนื้อตับ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ ภาวะตับแข็งจากแอลกอฮอล์ ภาวะตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบ และภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนอาจกลายเป็นตับแข็งได้
ระยะของตับแข็ง
- ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เกิดไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ ยังไม่มีอาการหรือการอักเสบเกิดขึ้นในตับ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากไม่มีการรักษาและปล่อยให้การอักเสบเกินกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรังได้
- ระยะที่ 3 การอักเสบรุนแรงต่อเนื่องจนเกิดพังผืด (fibrosis) สะสมในตับ ระยะนี้เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลงและกลายเป็นพังผืด
- ระยะที่ 4 เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เกิดภาวะตับแข็ง อาจนำมาสู่มะเร็งตับ และเกิดภาวะตับวายได้
1. ตับแข็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ภาวะตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic liver cirrhosis) คือ แผลเป็นในตับที่เกิดจากพัฒนาของเนื้อเยื่อพังผืด เพื่อมาแทนที่เซลล์ตับที่เสียหายไป ทำให้ลักษณะเนื้อเยื่อตับที่ควรเรียบจะกลายเป็นก้อนและแข็งขึ้น โรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้จะหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วก็ตาม
โดยปกติแล้วเนื้อเยื่อตับสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่ถ้าเซลล์ได้รับความเสียหายมากเกินไป ก็จะกลายเป็นเหมือนแผลเป็นที่เป็นพังผืดถาวร ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถของตับในการกำจัดสารเคมีและยาต่างๆ ออกไปจากร่างกายลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดสารที่เป็นสารพิษหรือสารอันตรายตกค้างอยู่ในร่างกาย
เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและต่อเนื่องส่งผลต่อการเกิดโรคตับ โดยระยะแรกเกิดภาวะไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ ซึ่งระยะนี้มักไม่มีอาการ และถ้าหยุดดื่มตับสามารถกลับมาปกติได้ใน 4-6 สัปดาห์ ถ้ายังดื่มต่อเนื่อง ร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยจะเกิดตับอักเสบเรื้อรัง และพังผืดในเนื้อตับและร้อยละ 20 เข้าสู่ภาวะตับแข็ง ในเวลาประมาณ 10 ปี
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดตับแข็ง
เมื่อมีดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับมีปัจจัยเสริมบางประการ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การดื่มในปริมาณสูง ดื่มมานาน โดยการดื่มต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีด้วย ปริมาณตั้งแต่ 20-30 กรัมต่อวันในเพศหญิง หรือ 40-50 กรัมต่อวันในเพศชาย สามารถก่อให้เกิดภาวะตับแข็งได้ การดื่มตอนท้องว่าง หรือร่างกายอยู่ในสภาวะขาดสารอาหารหรือ อ้วนเกินไป เป็นต้น
อาการตับแข็งจากแอลกอฮอล์
ในระยะแรกของโรคตับแข็งอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยนอกจากผลการตรวจเลือดที่บ่งบอกความผิดปกติหรืออาจจะมีอาการไม่สบาย เบื่ออาหาร อยากอาเจียน คันตามผิวหนัง น้ำหนักตัวลดลง และเมื่อโรคตับแข็งดำเนินต่อเนื่องอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น อาการดีซ่านช่องท้องและขาบวม กล้ามเนื้อลีบเล็กลง ปรากฏเส้นเลือดฝอยเหมือนแมงมุมบนผิวหนัง ผิวหนังช้ำและมีเลือดออกง่าย อาเจียนเป็นเลือดหรือมีเลือดในอุจจาระ และมีไข้เพราะมีการติดเชื้อ เป็นต้น
ภาะวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง
เนื้อเยื่อที่เป็นพังผืด จะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงตับ ทำให้หลอดเลือดดำพอร์ทอลที่เชื่อมต่อระหว่างลำไส้และตับมีความดันสูงขึ้น ทำให้ดันเลือดที่จะไหลไปที่หัวใจให้ไหลผ่านเส้นเลือดอื่น แทนที่จะผ่านตับ เป็นผลทำให้มีการขยายของเส้นเลือดในเยื่อบุกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เกิดเป็นภาวะเส้นเลือดขอด
ถ้ามีเลือดออกด้วยอย่างช้าๆ ก็จะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง และยังเป็นภาวะเสี่ยงที่จะมีเลือดออกอย่างรุนแรง โรคตับแข็งนอกจากสามารถนำไปสู่ภาวะตับวาย แล้วยังสามารถนำไปสู่กลุ่มอาการโรคไตเนื่องจากโรคตับ และสมองทำงานผิดปกติได้ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งตับด้วย
รักษาตับแข็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ภาวะตับแข็ง ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น โดยการหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้านการรักษาด้วยยานั้นจะใช้ในกรณีบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดความเสี่ยงของการมีเลือดออก ในภาวะความดันโลหิตเส้นเลือดดำพอร์ทอลสูง หรือ ยาขับปัสสาวะ หากมีอาการบวมในช่องท้อง เพื่อช่วยขจัดน้ำออกไป และการรักษาโดยการปลูกถ่ายตับจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีภาวะตับวาย
2. ตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบ
ไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิด ได้แก่ ชนิด เอ บี ซี ดี และอี เมื่อตับได้รับเชื้อไวรัส ก็จะเกิดภาวะตับอักเสบ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ มีอาการตับบวมโต และมีโอกาสดำเนินโรคเป็นตับแข็ง โดยอาการจะคล้ายๆ กันไม่ว่าจะมาจากเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดไหน การจะเป็นน้อยหรือมากมักขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ได้รับและความแข็งแรงพื้นฐานของผู้ป่วย อาการที่พบมากๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ ร่วมกับการมีคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง
ตับอักเสบเรื้อรังนำไปสู่ภาวะตับแข็ง
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี นำไปสู่การเกิดตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้จะค่อยๆ ทำลายเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็งและเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งตับ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบอยู่แล้ว หากดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งส่งผลให้การดำเนินของโรคลุกลามอย่างรวดเร็วขึ้น จนเกิดตับแข็งและมะเร็งตับได้เร็วขึ้น
แพทย์สามารถตรวจดูการอักเสบของตับได้จากการตรวจเลือด ส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นตับแข็งและมะเร็งตับมักไม่มีอาการในระยะแรก แค่อาจอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่เมื่อโรคลุกลามจนอาการหนักขึ้น จะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวตาเหลือง เป็นต้น
หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบต้องรีบรักษา
ไวรัสตับอักเสบ ส่วนใหญ่จะรักษาแบบประคับประคอง หรือรักษาตามอาการเพื่อลดการอักเสบของตับ และควรการพักผ่อนมากๆ ในช่วงที่มีอาการอ่อนเพลีย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงยาพาราเซตามอล ทั้งนี้แพทย์จะนัดให้ทำการตรวจเลือดเพื่อติดตามผลการรักษา และดูการทำงานของตับว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างต่อเนื่อง ไวรัสตับอักเสบบีและซี ถ้าเป็นเรื้อรังต้องการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมียาที่รักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ส่วนไวรัสตับอักเสบบีก็มียาที่ใช้หยุดการแบ่งตัวของเชื้อและลดการอักเสบของตับได้
สำหรับการป้องกันโรคตับแข็งสามารถทำได้หลายวิธี โดยหลักแล้วจะเป็นการเลิกละพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหันมาดูแลตนเองมากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน ตรวจการทำงานของตับเพื่อหาความผิดปกติ พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เพื่อไม่ให้ตับเสียหาย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ