รับมือ ‘แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก’ อย่างถูกวิธี ห้ามใช้น้ำแข็ง-ยาสีฟันทาแผล!
ศูนย์ : ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน
ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุแล้ว คงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและไม่มีใครอยากให้เกิด อย่างแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุที่ใกล้ตัวเรามากในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและมีสติ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หากโดนไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ให้ถอดเสื้อหรือเครื่องประดับโลหะที่ไหม้ หรือมีความร้อนอยู่ออก ถ้าเสื้อผ้าติดกับแผลอย่าพยายามดึงออก ที่สำคัญอย่าใช้ยาสีฟัน น้ำแข็ง หรือน้ำปลาทาแผล ตามความเชื่อเดิมๆ ที่บอกต่อกันมา แต่ควรทำให้ผิวหนังบริเวณที่ไหม้เย็นลงโดยการเปิดน้ำให้ไหลผ่าน และไม่ควรเจาะตุ่มพุพอง
การที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลาย แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ขึ้นอยู่กับความลึกและความกว้างของแผลดังนี้
- ระดับที่หนึ่ง - เป็นการไหม้บริเวณผิวหนังด้านนอก
- ระดับที่สอง - เป็นการไหม้ถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบางส่วน
- ระดับที่สาม - เป็นการไหม้ลึกถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังทั้งหมด
อาการแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
- สำหรับการไหม้ระดับที่หนึ่ง - ผิวหนังแดง แห้ง ยังไม่มีตุ่มพุพอง เจ็บปวด
- สำหรับการไหม้ระดับที่สอง - ผิวหนังเปียกชื้น แดง กดแล้วซีด มีตุ่มพุพอง เจ็บปวด
- สำหรับการไหม้ในระดับที่สาม - ผิวหนังไหม้เกรียม หรือซีดขาว หดตึง ไม่เจ็บปวด
ขั้นตอนการรักษาเมื่อถึงโรงพยาบาล
- ทำความสะอาดแผลไหม้ด้วยน้ำเกลือ แล้วทาแผลด้วยครีม silver sulfadiazine
- ให้ยาแก้ปวด
- ให้ยาปฏิชีวนะเฉพาะเมื่อจำเป็น
ควรพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ในกรณีที่ผู้ป่วยมีลักษณะดังนี้
- แผลไหม้บริเวณกว้าง
- ผู้ป่วยเด็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี) หรือผู้ป่วยสูงอายุ (อายุมากกว่า 55 ปี)
- อุบัติเหตุไฟฟ้าแรงสูง
- มีแผลไหม้ระดับสามเป็นวงรอบอวัยวะ เช่น รอบนิ้ว รอบแขนขา รอบลำตัว
- มีปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เบาหวาน หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
รู้อย่างนี้แล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ไม่ว่าจะกับตนเองหรือคนที่คุณรัก ให้จำไว้เสมอว่าอย่านำยาสีฟัน น้ำแข็ง หรือน้ำปลาทาแผล ตามความเชื่อเดิมๆ อีกเด็ดขาด!
บทความทางการแพทย์ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน