ปวดหลัง อย่ามองข้ามอาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกโรค
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม
เมื่อมีอาการปวดหลัง หลายคนเลือกที่จะเมินเฉยกับอาการปวดนี้ หรือแค่หายาแก้ปวดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการ ข้อสังเกตสำคัญหากปวดหลังร่วมกับอาการร้าวลงขาหรือปวดคอร้าวลงแขน และปวดบริเวณอื่นๆ ร่วมด้วย คงไม่ใช่แค่อาการปวดหลังธรรมดา เพราะอาการปวดหลังในแต่ละแบบนั้น อาจเป็นสัญญาณเตือนบ่งบอกความผิดปกติของร่างกายหรือโรคต่างๆ ได้
สารบัญ
อาการปวดหลังแบบไหน บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง
ปวดหลังแบบกว้างๆ ก้มหรือแอ่นหลังไม่ได้ – โรคกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
โรคนี้ไม่ได้เกิดหรือเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังโดยตรง แต่เป็นที่กล้ามเนื้อหลังโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหลังถูกใช้งานมากเกินไป เกิดอุบัติเหตุโดนกระแทกที่หลัง การเล่นกีฬาอย่างหนัก จนทำให้กล้ามเนื้อหลังอักเสบอักเสบเฉียบพลันทันที โดยอาการที่พบจะปวดเกร็งหลัง ปวดตึงหลัง จนต้องแอ่นหลังตลอดเวลา รู้สึกปวดหลังแบบกว้างๆ ระบุตำแหน่งชัดเจนไม่ได้ รวมทั้งอาการยังคล้ายหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา/p>
ปวดหลังร้าวลงขา ไอ จาม หรือเบ่งจะยิ่งปวด – โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากเจลในหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือรากประสาท ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการก้มๆ เงยๆ ยกของหนัก นั่งทำงานอยู่ในท่านั่งเดิมเป็นเวลานาน แล้วไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ รวมถึงความเสื่อมตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นอาการออฟฟิศซินโดรม ผู้ป่วยจะมีอาการมีอาการปวดหลังรุนแรง ปวดมากจนไม่อาจขยับตัวได้ ปวดหลังร้าวลงขา ปวดขณะไอ จาม รวมไปถึงอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการชา ขาอ่อนแรง มีอาการผิดปกติในการควบคุมปัสสาวะและ อุจจาระ มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาแข็งเกร็ง เป็นต้น
ปวดหลังแบบขัดๆ ภายในข้อ ปวดลึก ปวดเสียว - โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
มักพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป โรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้นเป็นภาวะที่กระดูกสันหลังทรุดตัว จากข้อต่อ Facet joint ที่ทำหน้าที่เชื่อมกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เกิดเสื่อมลง เป็นผลให้ข้อกระดูกชิ้นบนกับชิ้นล่างอยู่ชิดกันมากเกินไป หากเป็นในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่ถ้าเมื่อใดที่ข้อต่อนั้นเสื่อมสภาพลงมากจนทำให้กระดูกสันหลังทรุดตัวลงเพิ่มมากขึ้น จะมีอาการปวดหลัง เมื่อใช้มือกดไปที่ข้อกระดูกสันหลังตรงๆ จะรู้สึกปวดลึก ปวดเสียว และรู้สึกขัดๆ ภายในข้อ สามารถชี้ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน หลังแข็งก้มหลังได้น้อยลง บางครั้งอาจเกิดกล้ามเนื้อหลังหดเกร็งค้าง จนนำไปสู่อาการปวดหลังจากกล้ามเนื้อหลังอักเสบได้
ปวดหลังส่วนล่าง ปวดร้าวลงสะโพก ก้น ต้นขา – โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้ามากกว่าปกติ โดยมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เกิดจากข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม อุบัติเหตุที่มีการกระแทกต่อกระดูกสันหลังโดยตรงจนทำให้ข้อเคลื่อน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่อ้วนลงพุง ผู้ที่ทำงานต้องก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ และอาจเกิดจากติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง เช่น วัณโรคกระดูกหลัง เป็นต้น โดยมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดมากเมื่อยืนหรือเดิน ผู้ที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อนมากจะมี อาการปวดร้าวลงสะโพก ก้น ต้นขา แต่ถ้ากระดูกเคลื่อนไปโดนเส้นประสาทจะมีอาการขาชา และขาอ่อนแรงร่วมด้วย
ปวดหลังเหนือบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง – โรคไต โรคนิ่ว
โรคที่เกิดจากความผิดปกติภายใน เช่น โรคไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น จนทำให้มีอาการปวดหลังบริเวณเหนือบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการปัสสาวะขุ่น แสบ ขัด มีไข้ นอกจากนี้โรคกระเพาะ ลำไส้ มดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ก็ส่งให้เกิดอาการปวดหลังบริเวณนี้เช่นกัน แต่โรคเหล่านี้มักจะมีอาการปวดท้องควบคู่กันด้วย
เจาะลึกถึงปัญหาการรักษาอาการปวดหลังอย่างตรงจุด
ขั้นตอนรักษาอาการปวดหลัง ปวดคอ ของศูนย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลนครธน แพทย์จะเลือกการผ่าตัดเป็นวิธีการสุดท้าย โดยจะใช้แนวทางการรักษาด้านอื่นๆ ก่อนการผ่าตัดเสมอ (ยกเว้นในรายที่แพทย์พิจารณาว่ามีอาการรุนแรง) โดยพิจารณาแนวทางการรักษา เป็น 3 รูปแบบ
- การรักษาแบบประคับประคอง โดยการรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด พร้อมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลย หรืออาการปวดไม่หายไปในเวลา 3 เดือน อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีที่ 2 และ 3
- การรักษากระดูกสันหลังแบบไม่ต้องผ่าตัด
- การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวด ลดอาการอักเสบและบวมของปมประสาทที่เกิดจากหมอนรองกระดูกกดทับหรือโพรงประสาทตีบ
- การใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อบำบัดปวดข้อต่อฟาเซ็ต ทำให้ลดการส่งสัญญาณปวดและลดอาการปวด
- การฉีดยาข้อต่อฟาเซ็ตหรือเข้าเส้นประสาทฟาเซ็ต จะใช้การฉีดยาชาที่อาจผสมกับยาเสตียรอยด์ไปบริเวณข้อต่อฟาเซ็ตหรือเส้นประสาทฟาเซ็ตที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุที่ปวด
- การรักษากระดูกสันหลังแบบผ่าตัด
- การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป การผ่าตัดจะทำผ่านกล้องเอ็นโดสโคปความละเอียดสูงโดยสอดกล้องผ่านแผลเล็กๆ ทางผิวหนังเข้าไปยังกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาแบบ “Minimally Invasive Spine Surgery” ที่มีแผลผ่าตัดเล็ก อาการปวดแผลผ่าตัดน้อย ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด และผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า รักษาโรคหรือภาวะหมอนรองกระดูกต้นคอเลื่อนกดทับเส้นประสาท หรือทับไขสันหลังหรือหมอนรองกระดูกต้นคอที่เสื่อม ร่วมกับมีกระดูกงอกกดทับเส้นประสาท
- การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกคอเทียม ผ่าตัดโดยใช้กล้องไมโครสโคปเพื่อนำหมอนรองกระดูกต้นคอ ที่เคลื่อนทับเส้นประสาทอออก แล้วแทนที่ด้วยหมอนรองกระดูกสันหลังต้นคอเทียม
- การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังระดับเอวแบบผ่านทางรูออกเส้นประสาท พร้อมกับนำหมอนรองกระดูกออกทั้งหมดแล้วใส่หมอนรองกระดูกเทียม ใส่สกรูยึดระหว่างข้อและเศษกระดูก เพื่อให้เกิดการเชื่อมของกระดูก
- การฉีดซีเมนต์เสริมกระดูกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี เป็นการฉีดซีเมนต์ผ่านผิวหนัง ผ่านทางแผลเล็กๆที่มีขนาดราวหลอดกาแฟ เข้าไปเสริมกระดูกส่วนที่หักโดยไม่ต้องยึดสกรู
เมื่อมีอาการปวดคอร่วมกับปวดหลังส่วนบน ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการปวดอาจมีหลายสาเหตุ ดังนั้นเมื่อมีสัญญาณเตือนอาการเหล่านี้ ควรเริ่มป้องกันและค้นหาต้นตอสาเหตุคือสิ่งที่ดีที่สุด และเมื่อมีอาการแล้วก็ไม่ควรปล่อยไว้นานจนเรื้อรัง เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายแรงได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง