อย่าให้โรคใบหน้ากระตุก มาทำให้เสียบุคลิก รักษาด้วยโบท็อก
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. ภัทราวุธ ซุ่นทรัพย์
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับใบหน้าไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ทุกคนย่อมเกิดความกังวล เพราะใบหน้าเป็นปราการด่านแรกในการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี ดังนั้นทุกคนจึงพยายามดูแลรักษาใบหน้าของตนเองให้สดใสสวยงาม และหากใครมีใบหน้าอยู่ในสภาวะ “กระตุก” คงทำให้ขาดความมั่นใจไม่น้อย แต่อาการใบหน้ากระตุกครึ่งซีกนี้สามารถรักษาได้ด้วย โบท็อก (Botox) ที่ไม่ได้มีดีแค่ความสวย แต่มีดีในด้านการรักษาด้วยเช่นกัน
โรคใบหน้ากระตุก เป็นอย่างไร?
โรคใบหน้ากระตุก เป็นโรคในกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการ “กระตุก” ของกล้ามเนื้อใบหน้าโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเกิดที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง อาการกระตุกจะเกิดขึ้นในกลุ่มของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ควบคุมโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ได้แก่ กล้ามเนื้อรอบดวงตา หน้าผาก มุมปาก และ กล้ามเนื้อชั้นตื้นบริเวณลำคอ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นช่วงใดและไม่สามารถควบคุมได้ พบได้ทั้งหญิงและชาย แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่า โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40-70 ปี
โดยการกระตุกส่วนใหญ่ ในตอนแรกจะเริ่มเป็นที่หนังตาก่อน คล้ายอาการตาเขม่น อาการกระตุกไม่รุนแรง และความถี่ในการกระตุกนานๆ ครั้ง เมื่อเป็นมากขึ้นจะกระจายไปที่ปากและแก้ม บางครั้งเมื่อกระตุกรุนแรงอาจทำให้ตาปิดสนิท ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณใบหน้าข้างเดียว ส่วนน้อยที่เป็นทั้งสองข้าง โรคนี้ไม่ทำให้เกิด การเป็นอัมพาต และอัมพฤกษ์ รวมทั้งไม่ได้เป็นโรคอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้ผู้ที่เป็นเกิดความรำคาญ เสียบุคลิก รบกวนการทำงานในชีวิตประจำวัน
อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดโรคใบหน้ากระตุก
สามารถแบ่งเป็น 2 สาเหตุ ได้แก่
- กลุ่มที่มีรอยโรคที่ก้านสมอง เช่น โรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกบริเวณก้านสมอง การอักเสบที่ไม่ทราบ สาเหตุ การเกิดอุบัติเหตุ การมีรอยเส้นเลือดตีบ หรือแตกในสมอง ที่ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท
- กลุ่มไม่มีรอยโรคที่ก้านสมอง ส่วนใหญ่เกิดจาก หลอดเลือดแดงในสมองบริเวณแถบก้านสมองไปพาดผ่านสัมผัสกับเส้นประสาทเฟเชียล หรือ เส้นประสาทสมองเส้นคู่ที่ 7 (Facial nerve) เมื่อหลอดเลือดแดงเต้นตามจังหวะหัวใจ หลอดเลือดจะกระแทกเส้นประสาทนี้ทำให้เส้นประสาทส่งกระแสประสาทนอกเหนือการสั่งของสมอง ส่งผลให้สัญญาณประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อผิดปกติไป เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่สามารถควบคุมได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นให้มีอาการใบหน้ากระตุกเพิ่มขึ้น เช่น ภาวะความเครียดทางจิตใจ คิดมากอ่อนเพลีย อ่อนล้า อดนอน รวมไปถึงกลุ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น การพูด การยิ้ม การใช้สายตามากเกินไป
แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคใบหน้ากระตุก
เบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติเพื่อแยกโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก ออกจากกลุ่มที่เป็นโรคนอกเหนือจากหลอดเลือดที่ไปสัมผัส หรือกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 7 เช่น โรคเนื้องอกในสมอง โรคเนื้องอกบริเวณก้านสมอง โรคเปลือกตากระตุก หรือกล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น เพราะสาเหตุและปัจจัยในการเกิดโรคแตกต่างกัน โดยเริ่มจากการให้ยาไปทาน ถ้าทานยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะทำการเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) สมองดูรอยโรคที่ก้านสมองเพื่อแยกโรค
แนวทางการรักษาโรคหน้ากระตุก หากพบสาเหตุหน้ากระตุกเพราะเนื้องอกในสมอง ก็จะทำการรักษาที่ต้นเหตุ แต่ถ้าไม่พบสาเหตุดังกล่าวสามารถรักษาได้ 3 แนวทาง ได้แก่
- การใช้ยารับประทาน เพื่อบรรเทาอาการกระตุก แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์อาการกระตุกก็สามารถกลับมาเป็นได้ ฉะนั้นการรับประทานยาจึงจำเป็นต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฤทธิ์ในการคุมอาการกระตุกเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
- การฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) หรือ โบท็อก (Botox) เข้าสู่กล้ามเนื้อที่มีอาการกระตุกเพื่อลดอาการกระตุก
- การผ่าตัด โดยจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการพบหลอดเลือดที่กดเส้นประสาทใบหน้า ที่บริเวณก้านสมองออก หรือพบโรคเนื้องอกที่มากดเส้นประสาท ซึ่งจะทำการผ่าตัดที่บริเวณหลังใบหู การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการแก้ไขที่ตรงจุดและถาวร
โบท็อก รักษาโรคใบหน้ากระตุกได้อย่างไร?
การฉีดโบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) หรือที่รู้จักกันในนาม “โบท็อก” (Botox) เป็นการบรรเทาอาการกระตุกในโรคหน้ากระตุกอย่างได้ผลดี โดยแพทย์จะทำการฉีดโบทูลินั่ม ทอกซินไปใต้ชั้นผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อที่มีการเกร็ง หรือกระตุก เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ อ่อนแรงลง ลดการกระตุกได้ โดยทั่วไปใช้เวลาในการฉีดประมาณแค่ 5-10 นาที โดยผลของโบทูลินั่ม ทอกซิน จะเริ่มออกฤทธิ์ในเวลา 2-3 วัน และอยู่ได้นานประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องกลับมารับการฉีดยา เพื่อลดอาการกระตุกอย่างสม่ำเสมอ
โบทูลินั่ม ท็อกซิน มีข้อดี คือ ใช้ในผู้ป่วยที่มีการกระตุกมาก หรือทนผลข้างเคียงจากยากินไม่ได้ ผู้ป่วยมักดีขึ้นร้อยละ 90 โดยทั่วไปภาวะแทรกซ้อนหลังการฉีดที่พบบ่อยได้แก่ รอยชํ้าจากการฉีดยาใต้ผิวหนัง อาจพบหนังตาตกหรืออาการเห็นภาพซ้อนชั่วคราวได้ แต่อย่างไรก็ตามด้วยเทคนิคในการฉีดยาในปัจจุบัน โอกาสการเกิดผลข้างเคียงพบได้น้อยมาก และจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
การปฏิบัติตัวหลังฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน
หลังฉีดทันที ไม่ควรจับ ลูบ คลำ บริเวณที่ฉีด งดนอนราบ 3 - 4 ชั่วโมงหลังทำการฉีด ให้นั่งตัวตรง ห้ามนวดหน้า 1 สัปดาห์ สามารถล้างหน้าและทาครีมบำรุงได้ตามปกติ เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความร้อนในช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีด ได้แก่ การทำเลเซอร์ อบซาวน่า ออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือเดินตากแดดเป็นเวลานาน เป็นต้น และ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ประมาณ 7 - 14 วัน
โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง แต่ใบหน้าเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญและสูญเสียความมั่นใจได้ หากพบว่าตนเองมีอาการในลักษณะ การเขม่นของใบหน้า หรือตา เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 1-3 สัปดาห์ หรือมีการการกระตุกร่วมกับอาการผิดปกติทางระบบประสาทอื่น เช่น หนังตาบน หนังตาล่าง แก้ม ใบหน้าชาหรือแสบ ใบหน้าเบี้ยว ควรรีบเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยถึงสาเหตุ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุด
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท