อาการผิดปกติแบบไหน สงสัยมะเร็งทางเดินอาหาร
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
มะเร็งทางเดินอาหาร เป็นมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย โดยสามารถเกิดในทุกตำแหน่งของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก รวมถึงอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง ตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี ซึ่งชนิดของมะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งตับอ่อน สาเหตุเกิดจากปัจจัยต่างๆ ร่วมกันระหว่างพันธุกรรม พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม การสังเกตอาการผิดปกติหรืออาการที่น่าสงสัยถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเกิดความผิดปกติ และสามารถตรวจพบได้ในระยะแรก ตั้งแต่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง ย่อมส่งผลให้การรักษาได้ผลดีมากขึ้น
อาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์
- กลืนติด กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ
- เบื่ออาหาร อิ่มเร็ว รับประทานอาหารได้น้อยลง
- มีอาการแน่นท้องเรื้อรัง
- อาเจียนเป็นอาหารเก่า อาเจียนเป็นเลือดซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกาแฟ
- ปวดท้องที่ไม่หายไปเอง และกินยาแล้วไม่ดีขึ้น ปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น
- ปวดท้องกลางคืนจนไม่สามารถนอนหลับได้
- การขับถ่ายเปลี่ยนแปลง อุจจาระลำเล็กลง
- ถ่ายอุจจาระสีดำแดง หรืออุจจาระปนเลือด
- ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องโต คลำพบก้อนในท้อง
- น้ำหนักลดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจลด
- มีภาวะอ่อนเพลีย มีภาวะโลหิตจาง
ตรวจมะเร็งทางเดินอาหารได้อย่างไร
การตรวจมะเร็งทางเดินอาหารทำได้หลายวิธี โดยขึ้นอยู่กับมะเร็งเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดของระบบทางเดินอาหาร อาทิ การซักประวัติตรวจร่างกาย การตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง การตรวจหาเลือดในอุจจาระ การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เป็นต้น แต่การตรวจที่สำคัญที่จะมาช่วยในการวินิจฉัยและรักษามะเร็งทางเดินอาหารได้ดี คือ การส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลแม่นยำ มีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบสาเหตุได้ แม้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย และยังสามารถนำชิ้นเนื้อมาตรวจ เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
การส่องกล้องทางเดินอาหาร
การส่องกล้องทางเดินอาหาร เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติโดยการใช้กล้องส่องที่มีลักษณะยาว เล็กและโค้งงอ มีกล้องวิดีโอขนาดเล็กและหลอดไฟอยู่ส่วนปลาย ซึ่งจะมีการบันทึกวิดีโอและปรากฏบนหน้าจอ ทำการตรวจผนังของทางเดินอาหารตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ไปจนถึงลำไส้ โดยแบ่งการตรวจออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1. การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy: EGD) เป็นการใช้กล้องส่องเข้าไปในปาก ตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และสำไส้เล็กส่วนต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกลืนลำบาก อาเจียนเป็นเลือด ปวดท้องจุกแน่นลิ้นปี่ เพื่อการวินิจฉัยโรคหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เช่น การอักเสบ เป็นแผล มีเนื้องอกหรือไม่ หากพบความผิดปกติแพทย์ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็งต่อไป
2. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการใช้กล้องส่องเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง ส่วนต้นและลำไส้เล็กส่วนปลาย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายปนเลือด ถ่ายเป็นเลือด น้ำหนักลดและอ่อนเพลียโดยไม่พบสาเหตุ เพื่อหาความผิดปกติหรือโรคที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคริดสีดวงทวาร ลำไส้อักเสบ ติ่งเนื้อ เนื้องอก หรือตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมไปถึงใช้ตัดรักษาก้อนเนื้อในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็งได้อีกด้วย
3. การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography: ERCP) ป็นการใช้กล้องตรวจหาความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน รวมถึงรักษาการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีหรือท่อตับอ่อน โดยใส่ท่อระบายน้ำดีคาไว้ ในกรณีผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน เกิดนิ่วในทางเดินน้ำดี ท่อน้ำดีอุดตัน เนื้องอกของท่อทางเดินน้ำดีหรือตับอ่อน และเพื่อการวินิจฉัยก่อนการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการมะเร็งทางเดินอาหารอาจมีลักษณะที่คล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองกำลังมีอาการที่ผิดปกติ และน่าสงสัยที่บ่งบอกถึงมะเร็งทางเดินอาหาร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ