เทคนิคการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ปลอดภัย ไร้แผล
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : ผศ.นพ. อิทธิชัย ศักดิ์อรุณชัย
ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายไม่แพ้โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เป็นโรคที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ไม่มีอาการ และแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้หลอดเลือดที่โป่งพองนั้นแตก เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการหลอดเลือดสมองโป่งพองแตกในสมอง จะทำให้มีเลือดออกในสมองรุนแรงเป็นเหตุให้มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง ในทางกลับกันการตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งพองก่อนที่จะแตกและทำการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถลดอัตราการเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตได้ โดยในปัจจุบันการรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือมีภาวะหลอดเลือดแตกในเยื่อหุ้มสมอง สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องผ่าตัด ด้วยเทคนิคการแยงสายเข้าไปในหลอดเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization) โดยมีความปลอดภัย ไร้แผล ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็ว
สารบัญ
รู้ได้อย่างไรว่ามีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง
ภาวะนี้จะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือเกิดอาการที่แสดงออกมากแล้วเท่านั้น ได้แก่
- กลุ่มที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่ จะมีอาการ เช่น หนังตาตก ภาพซ้อน ปวดศีรษะ หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมองส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ชา ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง เป็นต้น
- กลุ่มที่มีการแตกของหลอดเลือดสมองโป่งพอง ทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะและบริเวณต้นคออย่างรุนแรง และเฉียบพลัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หมดสติหลังจากปวดศีรษะหรือชักเกร็ง เมื่อฟื้นขึ้นมาจะยังคงมีอาการปวดศีรษะ และต้นคออย่างรุนแรง ถ้าร่างกายหยุดเลือดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น และวินิจฉัยเบื้องต้นแล้วว่าอาจเป็นภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง แพทย์จะทำการตรวจพิเศษได้ด้านอื่นๆ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) โดยวิธีหลังนี้จะช่วยทำให้ทราบถึงภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ชัดเจนที่สุด
รักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยไม่ต้องผ่าตัด
การแยงสายเข้าไปในหลอดเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization) เป็นทางเลือกการรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยมีหลักในการรักษา คือ การไม่ให้กระแสเลือดไหลเข้าไปในกระเปาะของหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้น สามารถทำได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ยังไม่แตก และภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตกแล้วมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
วิธีการรักษา Coil Embolization
การแยงสายเข้าไปในหลอดเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization) เป็นการทำหัตถการผ่านหลอดเลือดโดยใช้สายสวนสอดเข้าทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ ไปยังสมองและนำทางด้วยเครื่องฉายภาพรังสีระหว่างการรักษา (Fluoroscope) ไปหยุดอยู่ที่หลอดเลือดก่อนถึงจุดโป่งพอง จากนั้นจึงใช้สายสวนขนาดเล็ก ผ่านเข้าไปในจุดที่โป่งพอง แล้วสอดขดลวดโลหะเข้าไปภายใน ขดลวดโลหะที่ใส่ไปนั้นจะทำให้เลือดที่ไหลเวียนผ่านเข้าไปในจุดที่โป่งพองหยุดลง และกระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดขึ้นภายในทำให้จุดโป่งพองนี้อุดตัน และไม่เกิดเลือดออกซ้ำได้
ยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยไบเพลน
การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยใช้เครื่องไบเพลน Biplane DSA (Biplane Digital Subtraction Angiography) หรือ เครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองชนิดสองระนาบ สามารถที่จะถ่ายภาพหลอดเลือดได้สองระนาบในเวลาเดียวกัน คือ ด้านหน้า และด้านข้าง ทำให้เห็นภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน เปรียบเสมือนภาพ 3 มิติ
เมื่อศัลยแพทย์ใส่สายสวนขนาดเล็กผ่านเครื่องมือขนาดเล็ก ขึ้นไปที่หลอดเลือดสมองแล้วทำการฉีดสารทึบรังสี ด้วยการหมุนของเครื่องไบเพลนทำให้สามารถสร้างภาพที่มีลักษณะหลอดเลือด และตำแหน่งที่ต้องทำการรักษาได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถใส่สายสวนไปที่บริเวณหลอดเลือดโป่งพองแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพองได้โดยตรง แม่นยำ ถือว่าเป็นการยกระดับการรักษาที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยพื้นตัวเร็วขึ้น
ข้อดีของวิธี Coil Embolization
- ไม่ต้องผ่าตัด
- มีความปลอดภัย
- ไร้แผล ไม่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัว
- ไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด และการให้ยาระงับความรู้สึกที่เป็นระยะเวลานาน
- ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็ว
การรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองชนิดไม่แตกด้วยวิธี Coil Embolization นั้นเพื่อลดโอกาสในการเกิดหลอดเลือดสมองแตกในอนาคต เพราะเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าเมื่อหลอดเลือดสมองแตกแล้ว จะเกิดผลกระทบอะไรกับผู้ป่วยบ้าง หากมีอาการปวดศีรษะชนิดที่ว่า ไม่เคยปวดแบบนี้มาก่อนในชีวิต ต้องรีบมาพบแพทย์ทางด้านสมองและระบบประสาททันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท