เลือกอาหารถูกหลัก ช่วยเยียวยา "ตับ" ได้
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
“ตับ” เป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความสำคัญทำหน้าที่กรองของเสีย ขจัดสารพิษตกค้างที่ได้รับจากการรับประทานอาหารให้ออกไปจากร่างกาย ถ้ารับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์อาจส่งผลเสียต่อตับได้ หากตับทำงานผิดปกติ ตับอ่อนแอ หรือเกิดไขมันพอกตับ ตับแข็ง ก็จะทำให้ระบบต่างๆ เกิดความผิดปกติตามมา และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นก่อนที่จะตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อโรคตับ เราควรบำรุงดูแลตับให้แข็งแรง และใส่ใจต่อการรับประทานอาหารที่บำรุงตับมากขึ้น รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ตับแข็งแรง
อาหารบำรุงตับ ฟื้นฟูให้แข็งแรง
- ผักประเภทหัว อาทิ กะหล่ำปลี จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มกลูตาไธโอน (Glutathione) ในร่างกาย ทำให้ล้างสารพิษ บำรุงตับได้เป็นอย่างดี บรอกโคลี มันเทศ ที่มีกลูโคซิโนเลต (Glucosinolate) ช่วยกระตุ้นให้ตับผลิตเอนไซม์ต่อต้านสารพิษ และเอนไซม์ช่วยย่อย
- แครอท ผักสีส้มที่อัดแน่นไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิด ทั้งวิตามิน A, B1, B2, C, D และ K อีกทั้งยังมีกรดโฟลิก ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี และทองแดง ช่วยบำรุงตับ บำรุงเลือด และช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อยได้
- ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักกาดหอม รวมถึงผักใบเขียวชนิดอื่นๆ จะมีคุณสมบัติป้องกันการเกิดโลหะหนักในตับ และชะล้างสารเคมีที่สะสมอยู่ในตับ โดยเฉพาะสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงที่ร่างกายมักจะได้รับจากการบริโภคอาหาร
- บีทรูท จะมีสารฟลาโวนอยด์ ที่ตับต้องการไปบำรุงและฟื้นฟูตัวเอง
- ลิ้นจี่ อุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน กลูโคส ซูโครส วิตามิน A, B, C และกรดซิตริก ที่ช่วยบำรุงตับและบรรเทาอาการตับอักเสบได้
- ส้มและเกรปฟรุต มีทั้งวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการล้างพิษในตับและลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ
- อะโวคาโด มีกลูตาไธโอน (Glutathione) จะช่วยล้างพิษสะสมในตับ และช่วยลดโอกาสเกิดโลหะหนักสะสมในตับ
- เห็ดต่างๆ อาทิ เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอม เห็ดหูหนู หรือเห็ดหลินจือ ช่วยลดไขมันที่สะสมในตับและกระแสเลือด ต่อต้านการเกิดมะเร็ง และเพิ่มปริมาณของเม็ดเลือดขาวด้วย
- มะขามป้อม อุดมไปด้วยวิตามินซีช่วยรักษาอาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันการเกิดพิษโลหะหนักในตับ และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งตับได้
- ข้าวกล้อง มีคาร์โบไฮเดรตสูง มีวิตามินบีรวม หากรับประทานในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะช่วยสร้างไกลโคเจนในตับได้ ทำให้ช่วยฟื้นฟูให้ตับแข็งแรง
- เนื้อปลา เช่น ปลาแซลมอน จะมีโอเมก้า 3 สารอาหารบำรุงการทำงานของตับ เป็นตัวช่วยสำคัญในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของตับที่เสียหายให้กลับมาฟื้นฟูและทำงานได้ดีอีกครั้ง
- เก๋ากี้ จะมีเบต้าแคโรทีน กรดกำมะถัน แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามิน E, B2 ที่จะมาช่วยเพิ่มเม็ดเลือดขาว และลดไขมันในเลือด ซึ่งจะบำรุงตับให้ทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันไม่ให้ไขมันมาพอกตับมากกว่าเดิม
- วอลนัท มีสารสำคัญที่ช่วยบำรุงตับอยู่ 2 ชนิด คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 และกลูต้าไธโอน ซึ่งเป็นตัวช่วยในการขจัดสารพิษออกจากตับ
- กระเทียม มีสรรพคุณกระตุ้นให้ตับผลิตเอนไซม์ตัวที่ช่วยขับสารพิษออกไป อีกทั้งกระเทียมยังมีอัลลิซิน (Allicin) และซีลีเนียม (Selenium) 2 องค์ประกอบสำคัญจากธรรมชาติที่จะช่วยดีท็อกซ์สารพิษที่สะสมในตับ
นอกเหนือจากการรับประทานอาหารและสมุนไพรบำรุงตับแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ตับมีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยสามารถทำได้ ดังนี้
- ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (BMI เกิน 25 kg/m2) ควรออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร เพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกายและรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อาจมีผลข้างเคียงต่อตับ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ว่ามีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ หากไม่มีภูมิคุ้มกันควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงการตรวจการทำงานของตับเป็นระยะ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ