โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน ภัยเงียบที่มีมากกว่าแค่ปวดหลัง
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล
เมื่อคุณมีอาการปวดหลังเป็นประจำ นั่นคือจุดเริ่มต้นของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งอาการของโรคที่ชัดเจน มักจะมีอาการชาบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ มีอาการปวดมากขึ้นเมื่อต้องเดินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ และอาการปวดหลังจะมากจนรู้สึกได้ว่าร่างกายเดินต่อไม่ไหวแล้ว หากพบอาการดังกล่าวอย่ารอช้าให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนเป็นอย่างไร?
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis) เป็น ภาวะที่มีการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือด้านหลังมากกว่าปกติ โดยส่วนมากมักพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4 และข้อที่ 5 เนื่องจากข้อกระดูกสันหลังส่วนนี้จะรับน้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกาย
อาการของโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหลังส่วนล่าง และจะมีอาการแย่ลงหลังออกกำลังกาย โดยเฉพาะเมื่อมีการบริหารกระดูกบั้นเอว และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โดยอาการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- อาการที่หลัง ปวดหลังเรื้อรัง มักเกิดอาการในขณะที่มีการขยับหลังมาก เช่น การก้ม เงย หรือเดิน
- อาการที่ขา ปวด ชา หนักที่บริเวณสะโพกหรือต้นขา 2 ข้าง อาการจะเป็นมากขณะเดิน และอาการจะบรรเทาเมื่อมีการก้มโค้งหลังหรือได้นั่งพัก ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าระยะทางที่เดินได้จะสั้นลงเรื่อยๆ หากโพรงประสาทตีบแคบมากอาจทำให้การควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะเสียไปได้
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน เกิดจากสาเหตุใด?
โดยทั่วไปโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อ้วน และพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นน้อยกว่าเพศชาย ความมั่นคงของข้อต่อน้อยกว่าจึงเสียงต่อการเป็นโรคนี้ง่ายกว่า รวมไปถึงสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมมาก หรือผิดปกติแต่กำเนิด
- กระดูกสันหลังส่วน pars interarticularis แตก หัก ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างตัวปล้องกระดูกสันหลัง กับส่วนหางของกระดูกสันหลัง จึงทำให้ตัวปล้องของกระดูกสันหลังเคลื่อนมาข้างหน้ามากกว่าปกติเพราะขาดตัวยึดไว้
- ข้อต่อ facet joint เกิดการเสื่อม ทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้นๆขาดความมั่นคงจนเกิดการเคลื่อนไหวที่มากกว่าปกติ
- อุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลัง
- การทำกิจกรรมที่ทำให้มีแรงตึงสะสมบริเวณกระดูกหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะกีฬา เช่น ฟุตบอล ยิมนาสติก กรีฑา ยกน้ำหนัก เป็นต้น
- การติดเชื้ออย่างวัณโรคกระดูกสันหลังหรือโรคมะเร็งที่กระจายลุกลามมายังกระดูกสันหลัง
การตรวจและวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน
การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนประกอบด้วยการตรวจร่างกาย และทดสอบการเหยียดตรงของขา จากนั้นแพทย์จะทำการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์กระดูกสันหลังส่วนล่าง เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนของกระดูก การแตกหักอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น และอาจส่งตรวจ CT Scan และการทำ MRI ในกรณีที่สงสัยภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนจนกดทับเส้นประสาท โดยลักษณะการเคลื่อนของกระดูกสันหลังสามารถแบ่งได้ 5 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 กระดูกสันหลังเคลื่อนไม่เกิน 25%
- ระดับที่ 2 กระดูกสันหลังเคลื่อนไม่เกิน 50%
- ระดับที่ 3 กระดูกสันหลังเคลื่อนไม่เกิน 75%
- ระดับที่ 4 กระดูกสันหลังเคลื่อนตั้งแต่ 76 - 100%
- ระดับที่ 5 กระดูกสันหลังเคลื่อน 100%
โรคกระดูกสันหลังเคลื่อนรักษาได้ด้วยวิธีใด?
การรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งมีวิธีการ ดังต่อไปนี้
- การรักษาแบบประคับประคอง จะเป็นการรักษาตามอาการโดยการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ หากผู้ป่วยมีอาการชาที่ขาอาจต้องฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์บริเวณเส้นประสาทที่ถูกกระดูกสันหลังกดทับด้วย ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนัก เพื่อยืดและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง ใส่อุปกรณ์พยุงหลัง เหมาะสำหรับการเคลื่อนของกระดูกสันหลังในระดับที่ 1 และ 2
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง จะกระทำในกรณีรักษาแบบประคับประคองแล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมีอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นประจำหรือรุนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาทสัมพันธ์กับข้อกระดูกเคลื่อน เช่น อ่อนแรง ระบบทางเดินปัสสาวะและอุจจาระ และผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยในระดับที่ 3 และ 4 ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้เชื่อมกระดูกข้อสันหลังตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป โดยมักจะทำเพื่อกำจัดอาการปวดจากการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลังและจัดแนวกระดูกสันหลังให้กลับมาอยู่แนวปกติให้มากที่สุด การเชื่อมข้อกระดูกสันหลังมักจะทำกับกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว แต่ก็สามารถใช้กับกระดูกสันหลังส่วนคอและอกได้ ผู้ป่วยที่เข้ารับการเชื่อมยึดกระดูกสันหลังมักจะมีปัญหาการดึงรั้งของเส้นประสาทหรือไม่ก็มีอาการปวดรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการปกติได้
ในกรณีทั่วไป การยึดตรึงกระดูกนี้จะเหมือน “การซ่อม” โดยการนำสกรูโลหะ (มักทำด้วยไททาเนียม) ก้านโลหะ แผ่นโลหะ หรือหมอนรองกระดูกเทียมมายึดข้อกระดูกสันหลังทำให้กระดูกเกิดการประสานเชื่อมกัน การประสานของกระดูกจะใช้เวลาประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังจากผ่าตัด ระหว่างนี้ผู้ป่วยอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังควบคู่ไปด้วย
นอกจากการรักษาภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อนแล้ว การดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น อบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ไม่หักโหมเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายมากเกินไป ใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายอย่างระมัดระวัง และพักฟื้นให้เพียงพอหลังการทำกิจกรรมใดๆ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ก็จะเป็นส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกสันหลังเคลื่อนได้
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง