“มะเร็งลำไส้” ท้องผูกบ่อย เสี่ยง มะเร็งลำไส้ใหญ่
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
มะเร็ง ถือเป็นอันดับหนึ่งในการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เป็น 1 ใน 5 อับดับของมะเร็งร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยในปัจจุบัน และจากสถิติสถานการณ์สุขภาพของคนไทย 10 ปีย้อนหลัง คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ) ที่น่ากลัวไปกว่านั้น ผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นเลย ดังนั้น การคัดกรองในรายที่ยังไม่แสดงอาการและตรวจพบในระยะแรกจึงมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า
สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักตรวจพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอายุเฉลี่ยของคนไทยที่ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 60-65 ปี แต่โรคนี้ก็สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย และผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ เชื่อว่าการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงเพื่อป้องกันท้องผูก ทานอาหารที่มีไขมันน้อย ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะลดโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลย ก็เป็นได้ และส่วนใหญ่อาการที่สังเกตได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะคล้ายกับอาการของโรคลำไส้ทั่วๆไป ดังนั้นถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์และไม่ควรปล่อยไว้นาน ได้แก่
- ท้องผูก สลับท้องเสียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
- อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน
- ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ
- อาจคลำก้อนได้ในท้อง
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่นั้น เริ่มจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายประกอบอาการและอาการแสดงของ ผู้ป่วย รวมทั้งการตรวจทางทวารหนักด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ ( CEA: Carcinoembryonic Antigen) การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก การส่องกล้องทางทวารหนักและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางด้านพยาธิวิทยา เพื่อหาโรคมะเร็ง
ในการตรวจหาระยะของโรค แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องตรวจเหมือนๆกันในผู้ป่วยทุกราย เช่น การตรวจช่องท้องด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan) การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับ ไต การตรวจภาพของกระดูกด้วย (CT Scan หรือ MRI ตามความเหมาะสม ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาก ) เพื่อตรวจว่าได้มีโรคแพร่กระจายไปกระดูกหรือไม่ และการตรวจอัลตราซาวด์ตับถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่ไปตับ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ
- ระยะแรก มะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ มีลักษณะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณผิวของผนังลำไส้ใหญ่
- ระยะที่สอง มะเร็งเริ่มกระจายสู่ผนังลำไส้ใหญ่ โดยการทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้และ/หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง
- ระยะที่สาม มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
- ระยะที่สี่ มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสเลือดไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด หรือกระดูกเป็นต้น
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรค ความพร้อมของร่างกายผู้ป่วยว่ามีความพร้อมมากพอและเหมาะสมกับวิธีใด ซึ่งการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มี 3 วิธีหลักที่สำคัญได้แก่ การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด
การผ่าตัด (Surgery) เป็นการรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ การผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป ในบางครั้งถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาก หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้อง ( Colostomy ) เป็นทางให้อุจจาระออก
การฉายแสง (Radiation Therapy) เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงในการกำจัดเซลล์มะเร็ง ปกติจะใช้การฉายแสงในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จะรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาและประเมินจากลักษณะการลุกลามของก้อนมะเร็งและโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไป การฉายรังสีรักษามักใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์
เคมีบำบัด (Chemotherapy) คือ การให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดหรือหลังผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ โดยมีการศึกษาพบว่าการฉายแสงร่วมกับเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย สามารถลดการเกิดโรคขึ้นมาใหม่ และลดอัตราการผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่มาเปิดไว้ที่หน้าท้อง นอกจากนี้ยาเคมีบำบัดยังใช้ในการรักษาหลักในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจายหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ การใช้ยาเคมีบำบัดจึงใช้เพื่อหยุดการกระจายตัวของมะเร็งไม่ให้ลุกลามต่อและเพิ่มอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยได้นานขึ้น ทั้งนี้ ก็จะขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ