ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังคด

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล

ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังคด

ภาวะกระดูกสันหลังคด เกิดได้ตั้งแต่วัยทารก เด็กหรือวัยรุ่นและมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ในผู้ใหญ่นั้นอาจเกิดจากการมีกระดูกสันหลังคดมาตั้งแต่ในวัยเด็ก หรือกระดูกสันหลังคดจากกระดูกสันหลังเสื่อมที่ใช้งานเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ภาวะกระดูกสันหลังคดมักถูกเพิกเฉย มิได้ป้องกัน กว่าจะมาพบแพทย์ ก็มีอาการคดมากจนเดินตัวเอียง หรือมีอาการร่วม ฉะนั้นเมื่อพบความผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษา เพื่อให้เข้าใจภาวะกระดูกสันหลังคดให้มากขึ้น ไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้กัน


Q: ลักษณะของกระดูกสันหลังคดเป็นอย่างไร

A: กระดูกสันหลังคด จะมีแนวกระดูกสันหลังโค้งงอ คดงอ บิดเบี้ยวไปทางด้านข้างเป็นรูปตัว S หรือตัว C โดยจะคดไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ได้ ส่งผลให้ ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ระดับเอวไม่เท่ากัน ด้านหลังนูนทำให้คิดว่าหลังโก่ง สะโพกสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน

> กลับสารบัญ


Q: จะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีภาวะกระดูกสันหลังคด

A: สังเกตเบื้องต้นได้ด้วยสายตา โดยระดับหัวไหล่จะสูงไม่เท่ากัน จะพบการบิดเอียงของลำตัว ระดับหัวไหล่ ระดับสะบัก หรือระดับสะโพกทั้ง 2 ข้าง คอเอียง เวลาก้มหลัง จะเห็นแนวหลังนูนไม่เท่ากัน และแนวกระดูกสันหลังไม่เป็นเส้นตรง ทั้งนี้ควรไปรับการตรวจประเมินอีกครั้งโดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง

> กลับสารบัญ


Q: กระดูกสันหลังคดอันตรายแค่ไหน

A: ความรุนแรงและอาการจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางรายมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยในด้านของบุคลิกภาพ อาจมีอาการปวดเมื่อยเมื่อใช้ร่างกายไม่ถูกวิธี หรืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม และบางรายหากมีภาวะกระดูกสันหลังคดรุนแรงอาจทำให้มีผลกระทบต่อการทำงานของปอดและหัวใจได้

> กลับสารบัญ


Q: หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเป็นอย่างไร

A: ภาวะกระดูกสันหลังคดในเด็กที่ยังมีการเจริญเติบโต มุมองศาของการคดก็ยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วตามการเจริญเติบโตของร่างกาย สำหรับในวัยผู้ใหญ่ มุมคดอาจจะคงที่ หรือคดเพิ่มขึ้นได้จากโครงสร้างร่างกายที่เสื่อมลงตามอายุ การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ที่ต้องก้มหลัง นั่งงอตัว เป็นต้น ส่งผลให้มีอาการบาดเจ็บของร่างกายตามมาด้วย สำหรับในรายที่มีอาการคดมากกว่า 45 องศา หรือ ยังคงมีการคดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกดเบียดปอดและหัวใจ ส่งผลให้หายใจลำบากและเหนื่อยง่ายหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะเกิดอันตรายรุนแรงต่อชีวิตได้

> กลับสารบัญ


Q: กระดูกสันหลังคดแค่ไหนไม่ต้องผ่าตัด

A: หากตรวจแล้วพบว่ากระดูกสันหลังคดอยู่ระหว่าง 20 – 45 องศา แพทย์จะใช้การออกกำลังกายที่เหมาะสม การทำกายภาพบำบัด รวมไปถึงการใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ไปจนกว่าร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโต เพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้แนวกระดูกคดมากกว่าเดิม

> กลับสารบัญ


Q: กระดูกสันหลังคดแค่ไหนต้องผ่าตัด

A: แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีข้องบ่งชี้ ดังนี้
  • มีกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงตั้งแต่แรก
  • มีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือโรคกระดูกสันหลังคดมีผลกระทบต่อระบบประสาท
  • มีมุมของกระดูกสันหลังคดมากกว่า 40 - 45 องศา ร่วมกับมีอาการปวดทรมาน หายใจลำบาก
  • มีโครงสร้างร่างกายเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีแนวโน้มกระดูกคดเพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในไม่ว่าจะเป็นปอดหรือหัวใจ

> กลับสารบัญ


Q: การจัดกระดูกสันหลัง ช่วยแก้อาการกระดูกสันหลังคดได้จริงหรือไม่

A: ต้องดูว่ามีลักษณะคดแบบไหน เพราะกระดูกสันหลังคดมีหลายประเภท มีตั้งแต่การคดตั้งแต่กำเนิด ช่วงวัยรุ่น หรือการคดที่เกิดจากกล้ามเนื้อไม่ได้เกิดจากกระดูกโดยตรง ถ้าเป็นกระดูกสันหลังคดจากรูปร่างกระดูกที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การจัดกระดูกไม่สามารถช่วยได้ แต่ในกรณีที่คนไข้บางรายที่มีหลังคดจากกล้าวเนื้อบาดเจ็บ กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีความไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อ เกิดจากท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม สาเหตุเหล่านี้การจัดกระดูกสามารถบรรเทาอาการ ช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ เมื่อกล้ามเนื้อถูกคลายก็จะทำให้หลังที่คดกลับมาตรงได้ชั่วคราว

> กลับสารบัญ


Q: การสะพายเป้หนักๆ เป็นสาเหตุกระดูกสันหลังคดจริงหรือ

A: การสะพายกระเป๋าหนักไม่ใช่สาเหตุ แต่อาจทำให้มีความเสี่ยงที่กระดูกจะคดมากขึ้นได้ในผู้ที่มีภาวะกระดูกคดอยู่แล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงการสะพายกระเป๋าหนัก

> กลับสารบัญ


Q: ผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมใด

A: ควรหลีกกิจกรรมที่จะเกิดการกระแทกกับหลังหรือกระดูกสันหลังโดยตรง การยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากๆ การแบกของใส่หลัง การเล่นโยคะที่จะต้องใช้ท่าทางในการบิดของกระดูสันหลัง ท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือการที่จะต้องอยู่ในท่าทางเดิมซ้ำๆ นานๆ เช่น นั่งนาน ยืนนาน การนั่งหลังงอ นั่งตัวเอน เป็นต้น

> กลับสารบัญ


Q: ผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด เล่นกีฬาได้ไหม

A: สามารถเล่นได้ แต่อาจหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องใช้แรงเยอะๆ หรือกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายที่ต้องมีการบิด งอ ของหลัง เช่น ตีกอล์ฟ ตีเทนนิส ยกน้ำหนัก เป็นต้น หรือ หากจำเป็นต้องเล่น จะต้องมีการพบแพทย์เพื่อการรักษาควบคู่กันไป

> กลับสารบัญ


Q: ผู้ที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด ควรนอนท่าไหนดี

A: สามารถนอนได้ทุกท่าปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ เพราะอาจส่งผลต่อการหายใจไม่สะดวก หรือเกิดการปวดคอได้

> กลับสารบัญ


หากสังเกตร่างกายแล้วพบความผิดปกติของกระดูกสันหลัง อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้สามารถส่งข้อมูลปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ล่างล่างนี้เลย




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย