“ไฟโบรสแกน” เทคโนโลยีตรวจตับแบบใหม่ เรียบง่าย ไม่เจ็บปวด

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย :

“ไฟโบรสแกน” เทคโนโลยีตรวจตับแบบใหม่ เรียบง่าย ไม่เจ็บปวด

ไฟโบรสแกน (FibroScan) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจโรคเกี่ยวกับตับโดยจะใช้เพื่อตรวจหาไขมันที่สะสมอยู่ในตับและภาวะพังผืดในเนื้อตับโดยเฉพาะ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเหมือนกับการตรวจแบบเดิมๆ ที่ต้องใช้วิธีการเจาะตับ นอกจากนี้ก็สามารถตรวจก่อนป่วยได้อีกด้วย เพราะยิ่งตรวจก่อน รู้ก่อนก็จะยิ่งทำให้รักษาได้ทันและมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น


อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจความผิดปกติของตับ

  • มีอาการตาเหลืองและตัวซีดเหลืองผิดปกติ เพราะนั่นอาจหมายถึงการทำงานของตับที่ผิดปกติไปจึงไม่สามารถขจัดสารที่ทำให้ตัวเหลืองได้นั่นเอง
  • อ่อนเพลีย แม้จะนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและมักจะมีอาการอาหารไม่ย่อยบ่อยๆ เนื่องจากตับไม่สามารถหลั่งเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยอาหารออกมาได้
  • มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งตับเพราะมีโอกาสที่บุคคลอื่นๆ จะป่วยด้วยโรคนี้ได้สูง
  • เป็นผู้ที่เคยดื่มสุราเรื้อรังหรือในปัจจุบันก็ยังดื่มอยู่ เพราะพิษสุราจะทำลายตับโดยตรง

ทั้งนี้แพทย์อาจสั่งให้ตรวจ FibroScan เพื่อช่วยในการวินิจฉัยหรือติดตามโรคที่ส่งผลต่อตับ ได้แก่

  1. ไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver) เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลให้ตับอักเสบโดยตรง และทำให้ไขมันสะสมในตับ เกิดการอักเสบและเกิดพังผืดในตับ ก่อให้เกิดภาวะตับแข็งตามมาในไม่ช้า
  2. ไขมันพอกตับจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ (Non-alcoholic fatty liver) สัมพันธ์กับภาวะต่างๆ ได้แก่ โรคอ้วน โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนลงพุง ผู้ตรวจพบโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ การรับประทานอาหารพลังงานสูงเป็นประจำ เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการติดเชื้อเอชไอวี ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านไวรัสบางชนิด ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน หรือกลุ่มยาสเตียรอยด์
  3. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี และ ซี ที่จะทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ หรือเป็นโรคตับวายได้


ขั้นตอนการตรวจไฟโบรสแกน เรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก

  1. ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนอนหงายลงบนเตียงที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ โดยให้ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นไว้เหนือศีรษะของตนเอง
  2. แพทย์จะทาเจลที่หัวตรวจหรือผิวหนังของผู้เข้ารับการตรวจเล็กน้อย ซึ่งเป็นตัวช่วยที่จะทำให้ผลในการตรวจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. ใช้เครื่องมือตรวจไฟโบรสแกนตรวจวัดที่บริเวณกลางเนื้อตับ ประมาณ 10 ครั้งในจุดเดียวกัน
  4. รอผลที่ได้ โดยแพทย์จะแปลข้อมูลจากผลให้ผู้รับการตรวจทราบ พร้อมให้คำแนะนำ ซึ่งหากพบว่ามีภาวะพังผืดและไขมันในตับสูง ก็จะส่งตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

การตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกนเจ็บหรือไม่ ?

สำหรับการตรวจรักษาด้วยเครื่องไฟโบรสแกนไม่มีอาการเจ็บปวดหรืออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะใช้เวลาเพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น แต่ในขณะตรวจอาจจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับปลายหัวตรวจเล็กน้อย เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่ต้องตรวจเช็คสุขภาพตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกนก็หมดกังวลไปได้เลย แถมยังสามารถตรวจซ้ำได้หลายครั้งโดยไม่เป็นอันตรายอีกด้วย


ข้อห้ามในการตรวจไฟโบรสแกน

  1. ห้ามใช้ตรวจอวัยวะอื่นๆ - ไฟโบรสแกนถูกออกแบบมาให้ใช้กับการตรวจความผิดปกติของตับเท่านั้น จึงไม่ควรใช้กับการตรวจอวัยวะอื่นๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดผลกระทบจนเป็นอันตรายได้
  2. ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะท้องมาน - ในขณะที่มีภาวะท้องมาน ไม่ควรตรวจด้วยไฟโบรสแกน เพราะคลื่นความถี่จากตัวเครื่องอาจจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงได้ ซึ่งหากต้องการตรวจเช็คความผิดปกติของตับ ควรทำการรักษาท้องมานให้หายดีก่อน
  3. ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์ - เพราะคลื่นความถี่จากไฟโบรสแกนมีผลต่อการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์ จึงไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์เด็ดขาดและไม่ควรให้หญิงตั้งครรภ์อยู่ใกล้กับตัวเครื่องในขณะเปิดใช้งานด้วย
  4. ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์ในร่างกาย - ในผู้ป่วยที่ต้องติดอุปกรณ์ในร่างกาย ไม่ควรใช้ไฟโบรสแกนเพราะคลื่นความถี่จะไปทำลายตัวอุปกรณ์ทำให้เกิดความเสียหายหรือเกิดผลข้างเคียง

การตรวจไฟโบรสแกน (FIBRO SCAN) เป็นทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการของทุกคนได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถตรวจปริมาณไขมันเกาะตับ หรือไขมันพอกตับและค่าตับแข็ง ได้โดยไม่เจ็บตัว ราคาคุ้มค่า ไม่ต้องเตรียมตัวยุ่งยากก่อนตรวจ ใช้เวลาในการตรวจไม่นาน และทราบผลรวดเร็ว




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย