ไอ จามแรงๆ อาจทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้น
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล
หลายคนอาจคิดว่าโรคหมอนรองกระดูกปลิ้น เกิดจากพฤติกรรมการนั่งนานๆ ก้มๆ เงยๆ ก้มยกของ หรือ แบกของหนักเป็นเวลานานซ้ำไปซ้ำมา และการเกิดอุบัติเหตุเพียงเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมการไอ หรือ จามแรงๆ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีหมอนรองกระดูกเสื่อมอยู่แล้ว อาจทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขาร่วมกับอาการชาขึ้นได้
ทำไมแค่ไอ จาม แล้วหมอนรองกระดูกปลิ้นได้
การไอหรือจามแรงๆ แต่ละครั้ง จะทำให้เกิดแรงดันในช่องปอดและช่องท้องเพิ่มขึ้นจากการหดตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อที่อยู่รายรอบลำตัวเรา ทำให้หมอนรองกระดูกที่มีหน้าที่รับแรงกระแทกทำงานหนักขึ้น และเกิดแรงดันที่หมอนรองกระดูกแบบฉับพลัน รวมทั้งทำให้กล้ามเนื้ออักเสบได้ในคนที่มีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวไม่แข็งแรง โดยเฉพาะในรายที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมอยู่แล้ว ความดันที่เพิ่มขึ้นจะไปดันให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกจากรอยแยกของเปลือกหุ้มหมอนกระดูกไปกระทบกับเส้นประสาทได้
หมอนรองกระดูกปลิ้นเป็นอย่างไร
หมอนรองกระดูก โดยปกติทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย และเป็นตัวให้ความยืดหยุ่น ในขณะที่มีการก้มเงย บิดตัว ของตัวกระดูกสันหลัง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของหมอนรองกระดูกค่อนข้างมีความสำคัญ และต้องทำงานทุกวันแบบไม่มีเวลาพักนั่นเอง พอทำงานทุกวัน ก็เลยเกิดความเสื่อมขึ้น ประจวบกับกิจกรรมเสี่ยงที่ทำอยู่ ทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นได้ในที่สุด
หมอนรองกระดูกปลิ้น เกิดจากการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกชั้นนอก (Annulus fibrosus) ทำให้ส่วนที่อยู่ชั้นในที่มีลักษณะคล้ายวุ้น (Nucleus Pulposus) ที่อยู่ตรงกลางเคลื่อนออกมากดเบียดเส้นประสาท (Nerve root) ส่งผลให้เกิดอาการปวด ชาร้าวลงขาได้ มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 20-50 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ การไอหรือจามแรงๆ การทำงานที่ต้องยกของหนัก น้ำหนักตัวมาก การสูบบุหรี่ การใช้งานที่ไม่เหมาะสม การนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ การบิดตัวหรือก้มหลังอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นต้น
อาการหมอนรองกระดูกปลิ้น
อาการปวดในช่วงแรกจะค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยคือ ปริมาณการกดทับของเส้นประสาท และการอักเสบจากการแตกปลิ้นของหมอนรองกระดูก โดยอาการมีดังนี้
- ไอ จาม เบ่งแล้วจะมีอาการปวด
- ปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
- ถ้าเป็นมากอาจมีอาการชา หรือมีอาการอ่อนแรงของขาหรือเท้า
- บางรายไม่มีอาการปวดหลังเลย แต่จะรู้สึกขาชาอย่างเดียว พอเบ่งถ่ายก็รู้สึกขาชามากขึ้น
- ในบางรายที่เป็นมาก จะมีอาการปวดหลังร้าวลงขาทั้ง 2 ข้าง ขาชาและอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง ปัสสาวะไม่ออกและท้องผูกจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันความพิการที่จะเกิด อย่างถาวร
การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกปลิ้น
สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังที่ต้นเหตุได้
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกปลิ้น
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท จะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและความรุนแรง หรือระดับการกดทับเส้นประสาท รวมถึงระยะเวลาของการเกิดอาการ ในรายที่อาการไม่รุนแรงหรืออยู่ในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการใช้ยาแก้ปวด กายภาพบำบัด และให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้ป่วยประมาณ 80% ที่ทำการรักษาอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ แต่จะมีส่วนที่เหลือที่อาการอาจจะไม่ดีขึ้น เนื่องจากมีหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทมาก ซึ่งอาจจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด
ปัจจุบัน มีเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) โดยการสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัด ซึ่งมีขนาดเพียง 8 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของเอ็นโดสโคปจะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้ โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที จากนั้นผู้ป่วยเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด และใช้ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้น กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น
โรคหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาทนั้น อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้งาน และการดำเนินชีวิต ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ โดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว การระมัดระวังในการไอ หรือจามแรงๆ การนั่งขับรถนานๆ หรือการก้ม บิดลำตัว ยกของหนักๆ เป็นประจำ แต่หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือตรวจพิเศษเพิ่มเติม
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง