Glioblastoma (GBM) เนื้องอกในสมองที่มีความรุนแรง
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : นพ. กิตติพิชญ์ แม้นถาวรสิริ
เนื้องอกในสมอง เป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก เมื่อเทียบกับเนื้องอกของอวัยวะอื่น สามารถเกิดได้กับคนทุกอายุ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย เกิดได้ในทุกส่วนของสมอ ง มีทั้งเนื้องอกที่เป็นก้อนเนื้อธรรมดา ไปจนถึงชนิดร้ายแรง อย่างเนื้องอกในสมองที่มีชื่อว่า กลัยโอบลาสโตมา (Glioblastoma หรือ GBM) มะเร็งสมองที่ร้ายแรง เป็นเนื้องอกที่โต และแพร่กระจายเร็ว กลืนกินเข้าไปในเนื้อสมองปกติข้างเคียงได้ไว และทำให้เสียชีวิตในเวลาอันสั้น หากปวดศีรษะ และอาเจียนร่วมด้วย ชัก ไม่ว่าจะชักทั้งตัวหรือชักเฉพาะที่ โดยที่ไม่เคยเป็นโรคลมชักมาก่อน อย่านิ่งนอนใจ เข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทเพื่อตรวจและรักษาอย่างทันที
สารบัญ
รู้จักเนื้องอกในสมอง Glioblastoma
เนื้องอกในสมอง Glioblastoma หรือ GBM คือ เนื้องอกสมองชนิดร้ายแรง และจัดเป็นเนื้องอกที่เป็นมะเร็งสมองที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังส่วนอื่นๆ ของสมอง ที่พัฒนามาจากตัวเซลล์ประสาทชื่อว่า แอสโทรไซติก (Astrocyte) โดยเซลล์ชนิดนี้จะมีรูปร่างคล้ายดาว 5 แฉก และทำหน้าที่สำคัญคือ เป็นหน่วยสนับสนุนเซลล์สมองนิวรอน (Neuron) ทั้งด้านการให้อาหารและการซ่อมแซมโดยทั่วไปแล้วเนื้องอกชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ เกิดขึ้นเองได้ และกลายร่างมาจากเนื้องอกชนิดเนื้อดีบางชนิดที่เป็นมานาน
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของเนื้องอกในสมอง Glioblastoma
สาเหตุของเนื้องอกในสมอง Glioblastoma ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสของเนื้องอกในสมอง Glioblastoma ได้แก่
- เคยได้รับการฉายแสงบริเวณที่ต้นคอหรือศีรษะมาก่อน แล้วทำให้เกิดเนื้องอกในระบบประสาทได้ในระยะ 5 หรือ 10 ปีตามมา
- ความเสี่ยงจากการสัมผัสกับตัวทำละลายเคมีต่างๆ โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืช น้ำมัน รวมถึงพลาสติกไวนิลคลอไรด์ (PVC)
- ประวัติการเป็นโรคเนื้องอกสมองในครอบครัว
- การได้รับสัมผัสรังสีหรือสารกำมันตภาพ
อาการแสดงของเนื้องอกในสมอง Glioblastoma
เนื้องอกในสมองมักจะมาด้วยอาการที่หลากหลายขึ้นกับตำแหน่งของเนื้องอกในสมอง โดยที่อาการที่พบบ่อยที่สุดในเนื้องอกในสมอง Glioblastoma คือ
- อาการปวดศีรษะ และอาเจียนร่วมด้วย
- มีอาการชัก ไม่ว่าจะชักทั้งตัวหรือชักเฉพาะที่ โดยที่ไม่เคยเป็นโรคลมชักมาก่อน
- การเสียประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขน ขา และกล้ามเนื้อลาย
- เห็นภาพซ้อน
- การสูญเสียการรับสัมผัส การสูญเสียการมองเห็น การมองเห็นผิดปกติ การได้ยินผิดปกติ
- อัมพฤกษ์ครึ่งซีก (hemiparesis)
การวินิจฉัยเนื้องอกในสมอง Glioblastoma
โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และหากสงสัยว่าอาจมีเนื้องอกในสมอง จะต้องทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง (MRI Brain) เพื่อสร้างภาพถ่ายโครงสร้างภายในสมองและเนื้องอก ที่มีความละเอียดที่มากกว่าภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) หากพบว่ามีเนื้องอกในสมอง หรือเนื้อเยื่อผิดปกติ แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด รุนแรงระดับไหน เพื่อวางแผนทำการรักษาต่อไป
การรักษาเนื้องอกในสมอง Glioblastoma
แม้ว่าในปัจจุบันอาจยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถรักษาเนื้องอกในสมอง Glioblastoma ให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีมาตรฐานที่สามารถช่วยยืดอายุและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้
ซึ่ง การผ่าตัด จะเป็นวิธีหลักในการรักษา โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้องอกออกให้ได้มากที่สุด เท่าที่สามารถเอาออกได้ เพื่อลดความบาดเจ็บที่เนื้อสมอง โดยให้กระทบต่อการทำงานของระบบประสาทน้อยที่สุด เนื่องจากความสามารถของเนื้องงอกในสมอง Glioblastoma ที่สามารถเข้าไปรุกรานบริเวณของเนื้อสมองปกติด้วย ทำให้การตัดสินใจที่จะตัดเนื้องอกออกทั้งหมดนั้นอาจทำไม่ได้ในทุกกรณี โดยเฉพาะในบางรายที่ Glioblastoma เข้าไปปนอยู่กับเส้นใยประสาทส่วนควบคุมเรื่องการเคลื่อนไหวของแขนขา การตัดเอาเนื้องอกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกมากเกิน ก็อาจจะทำให้มีความพิการรุนแรงเกิดขึ้นได้
หลังจากการผ่าตัดและทราบชนิดของเนื้องอกแล้วผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉายแสงร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อที่จะจัดการกับเซลล์เนื้องอกที่ยังหลงเหลืออยู่
แม้ว่า เนื้องงอกในสมอง Glioblastoma จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการช่วยยืดอายุของผู้ป่วยให้นานขึ้น
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท