TMS เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ฟื้นฟูการทำงานของสมอง
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ
ผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ไมเกรน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และผู้ป่วยที่มีภาวะความจำถดถอยจากโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการรักษาเพียงรับประทานยาหรือทำกายภาพบำบัด แต่ปัจจุบันมีมีการนำเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) เข้ามารักษาและฟื้นฟูการทำงานของสมอง โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หากทำควบคู่กับกายภาพบำบัดหรือการรับประทานยา จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยได้ดีมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) คืออะไร?
TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คล้ายกับเครื่อง MRI เป็นคลื่นแม่เหล็กที่สามารถทะลุผ่านอวัยวะต่างๆ เข้าไปได้ลึก ประมาณ 1-3 เซนติเมตร เพี่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมและการสร้างวงจรระบบประสาทต่าง ๆ ภายในสมองของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคซึมเศร้า ผู้ป่วยที่มีภาวะความจำถดถอยจากโรคอัลไซเมอร์ โดยการกระตุ้นสมองในตำแหน่งต่างๆ จะใช้หัว coil ในลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งรูปร่าง ความถี่ และความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งรอยโรคของผู้ป่วยโดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ
ประโยชน์ของการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
- เป็นทางเลือกเพื่อช่วยในการฟื้นฟูภาวะอ่อนแรงจากอัมพฤกษ์ อัมพาตในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองอุดตัน
- ทางเลือกในการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รักษาด้วยยาต้านซึมเศร้าแล้วไม่ตอบสนองเท่าที่ควร
- ทางเลือกในการฟื้นฟูการทำงานของสมองในผู้ป่วยที่มีภาวะความจำถดถอยจากโรคอัลไซเมอร์
- ลดและป้องกันภาวะปวดศีรษะไมเกรน
การรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS) ให้ประสิทธิภาพดีแค่ไหน?
การรักษาด้วยเทคโนโลยี TMS คือการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านเข้าไปยังสมอง ช่วยเร่งระยะเวลาการรักษาให้ผู้ป่วยฟื้นฟูจากภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า ไมเกรน และอาการปวดเรื้อรังจากระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ช่วงนาทีทองหรือระยะเริ่มต้นของโรค หากเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้น ไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย หากทำควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยได้ 30-60%
TMS รักษาอย่างไร
วิธีการรักษาโดยเครื่อง TMS มีวิธีการรักษาโดยนำหัวส่งคลื่นแม่เหล็ก มาวางที่ศีรษะแขนหรือขาหรือจุดที่ต้องการรักษา วิธีการดังกล่าวไม่ทำผู้เข้ารับการรักษาเจ็บหรือเกร็งใดๆ เพราะกระบวนการรักษานั้นไม่มีการผ่าตัด หรือฉีดสิ่งใดเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ในขณะที่ทำ TMS ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงการกระตุกของกล้ามเนื้อบ้าง แต่จะไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย การทำTMS สามารถรักษาเป็นครั้งๆได้ ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ไม่ต้องนอนพักฟื้นและสามารถกลับบ้านได้เลยทันที
ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันที่มีอาการมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รักษาด้วยยาในขนาดที่เหมาะสมมาแล้ว และอาการยังไม่ดีขึ้นภายในหนึ่งปีนับจากเริ่มทานยาต้านเศร้า
- ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้นถึงระยะปานกลาง
- ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้องรัง ไมเกรน
ข้อจำกัดในการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)
- ผู้ที่มีการฝังโลหะหรือชิ้นส่วนของโลหะในสมอง เพราะสนามแม่เหล็กสามารถเหนี่ยวนำวัตถุที่เป็นโลหะ จนอาจก่อให้เกิดแรงกระทำต่อโครงสร้างสมองโดยรอบวัตถุนั้นได้
- ผู้ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องมือที่ฝังอยู่ในร่างกาย เพราะสนามแม่เหล็กจะรบกวนการทำงานของวงจรไฟฟ้าของเครื่องเหล่านั้นได้
ผลข้างเคียงที่พบในการรักษาด้วย TMS
มีความร้อนบริเวณที่กระตุ้น เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กทำให้อุณหภูมิภายในสมองสูงขึ้นแต่น้อยมากจะมีปวดตึงศีรษะบริเวณที่ทำการกระตุ้น คลื่นไส้ วิงเวียน อาการชัก อารมณ์พลุ่งพล่าน สำหรับผู้ป่วยจิตเวช
ข้อแนะนำก่อนรักษาด้วย TMS
- แพทย์จะแนะนำการรักษา ข้อบ่งชี้ และข้อห้ามในการใช้เครื่องมือดังกล่าว
- ห้ามอดนอน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำการรักษาด้วย TMS ในวันรุ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนก่อนทำ TMS
- กรณีมียาที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะยาในกลุ่มยานอนหลับ ยาทางจิตเวช ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
การฟื้นฟูการทำงานของสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถือเป็นการรักษาแนวใหม่และเป็นทางเลือกต่อโรคทางสมอง มีความปลอดภัยสูง สามารถเข้ารับการรักษาได้หลายครั้ง และมีผลกระทบจากการรักษาน้อยมาก ใช้เวลาในการรักษาเพียงไม่นาน แต่ให้ผลในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท