อัมพฤกษ์ อัมพาต – TMS เทคโนโลยีฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย :

อัมพฤกษ์ อัมพาต – TMS เทคโนโลยีฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วย

โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยของความพิการ ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน เคลื่อนไหวและเดินได้ตามปกติ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ การรักษาและการบำบัดฟื้นฟูสามารถช่วยลดอาการผิดปกติ ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต และเพิ่มสมรรถภาพของผู้ป่วยได้


ลักษณะอาการที่พบบ่อย

  • อัมพาตอ่อนแรง ขยับแขนขาได้น้อย หรือไม่ได้เลย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
  • ปากเบี้ยว มีน้ำลายไหล พูดไม่ชัด ดูดกลืนน้ำและอาหารลำบาก
  • ชาแขนขาข้างที่อัมพาต ไม่มีความรู้สึกเวลาโดนของร้อน หรือของมีคม
  • กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ซึ่งอาจพบได้ในระยะต่อมาของการเป็นอัมพาต
  • แขนและมือปวดบวม ซึ่งอาจเกิดจากการไม่เคลื่อนไหวของแขนและขา
  • มีปัญหาด้านการกลืน อาจทำให้มีโอกาสเกิดสำลักอาหารเข้าปอด และเป็นโรคปอดอักเสบตามมาได้

เครื่อง TMS คืออะไร?

เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (transcranial magnetic stimulation (TMS) เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้เครื่องมือในการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาเหนี่ยวนำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของสมอง ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการตกค้างของรังสีภายในร่างกาย จึงมีการใช้เครื่องมือนี้เพื่อช่วยในการฟื้นฟูความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ





TMS ช่วยรักษาภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้อย่างไร?

ปัจจุบัน มีเครื่องมือที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation, TMS) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นที่ปลายประสาท โดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้จะลงลึกไปที่ปลายประสาทประมาน 1-3 เซนติเมตร เพี่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยหลักการของเครื่อง คือ การส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เข้าไปกระตุ้นสมองจากภายนอก โดยสามารถทำได้ทั้งการกระตุ้นสมองข้างที่มีปัญหา หรือยับยั้งสมองข้างตรงข้ามเพื่อปรับสมดุลในการทำงานของสมอง ซึ่งการกระตุ้นดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นการเชื่อมต่อกันใหม่ของเซลล์ประสาท เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อดีขึ้น ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ ช่วยปรับการทำงานฟื้นฟูของสมองที่บกพร่องให้คงที่ โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ยิ่งทำควบคู่กับกายภาพบำบัด จะช่วยผู้ป่วยให้ฟื้นฟูได้ดีขึ้นมากกว่า 50-60 %


"การรักษาจะต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ประมาณ 5-10 ครั้งขึ้นไปถึงจะเห็นผล"

ข้อห้ามในการรักษาด้วยเครื่อง TMS

การรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต มีข้อห้าม ดังนี้

  • ผู้ที่มีการฝังโลหะหรือชิ้นส่วนของโลหะในสมอง เพราะสนามแม่เหล็กสามารถเหนี่ยวนำวัตถุที่เป็นโลหะ จนอาจก่อให้เกิดแรงกระทำต่อโครงสร้างสมองโดยรอบวัตถุนั้นได้
  • ผู้ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องมือที่ฝังอยู่ในร่างกาย เพราะสนามแม่เหล็กจะรบกวนการทำงานของวงจรไฟฟ้าของเครื่องเหล่านั้นได้

ข้อแนะนำก่อนรักษาด้วย TMS

ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่มารับการฟื้นฟูรักษาด้วยเครื่อง TMS จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ถึงการรักษา ข้อบ่งชี้ และข้อห้ามในการใช้เครื่องมือดังกล่าว พร้อมด้วยคำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนการรักษา ได้แก่

  • ห้ามอดนอน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำการรักษาด้วย TMS ในวันรุ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนก่อนทำ TMS
  • กรณีมียาที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะยาในกลุ่มยานอนหลับ ยาทางจิตเวช ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ควรมีมาตรฐานระดับสูงในด้านการป้องกันและดูแลรักษาพยาบาลเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกกันว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยมีทีมแพทย์สหสาขาวิชา ทั้งผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต ทีมพยาบาล นักกายภาพบําบัดนักโภชนาการ นักจิตบําบัด เภสัชกร คอยดูแลผู้ป่วย อีกทั้งให้ความรู้แก่ญาติผู้ป่วยในการปฏิบัติตนและดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีเมื่อกลับไปรักษาตัวที่บ้าน






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย