Work From Home นั่งนานปวดหลัง-ปวดคอ เสี่ยงโรคกระดูกสันหลัง
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล
หลายบริษัทยังคงให้ Work From Home (WFH) อยู่เพื่อความปลอดภัย เมื่อต้องเปลี่ยนจากการทำงานที่บริษัทที่มีพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างเอื้อให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวก มาเป็นการทำงานจากบ้าน ที่อุปกรณ์สำนักงานในบ้านอาจไม่เพียงพอ ไม่เหมาะกับสรีระ หรือลักษณะการนั่งไม่ถูกวิธี อาจประสบปัญหาปวดหลัง ปวดคอ เมื่อมีอาการปวดสะสมมากๆ อาจส่งผลถึงกระดูกและกล้ามเนื้อในระยะยาว ทำให้เสี่ยงเป็นโรคกระดูกสันหลังในที่สุด
Work Form Home กับ โรคกระดูกสันหลัง
Work Form Home โดยการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์กว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ในอิริยาบถเดิมนานๆ การก้มหรือเงยหน้ามองจอคอมพิวเตอร์ที่สูงหรือต่ำลงไป จะทำให้กระดูกต้นคอและกล้ามเนื้อคอต้องรับน้ำหนักศีรษะจนอ่อนล้า รวมไปถึงหากจัดระเบียบร่างกายไม่ถูกต้อง นั่งไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะการนั่งตัวงอ หลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก กล้ามเนื้อหลัง เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ การใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ ทำให้เกิดพังผืดกดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้ โดยอาการจะรุนแรงจนถึงขั้นเป็นโรคกระดูกสันหลัง อย่างโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
อาการที่เป็นสัญญาณเตือน
สัญญาณเตือนจากอาการที่จะต้องมาพบแพทย์โดยด่วน คือ อาการปวดคอร้าวลงแขน ปวดหลังร้าวลงขา ชาหรืออ่อนแรงแขนขา หรือ มีอ่อนแรงแขนขา หากมีการกลั้นอุจจาระหรือ ปัสสาวะ ร่วมด้วยการปวดคอ ปวดหลัง คือ สัญญาณกระดูกสันหลังกดทับไขสันหลังและเส้นประสาทสันหลัง ซึ่งโรคที่พบบ่อย คือ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทไขสันหลัง
การตรวจวินิจฉัย
สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลัง แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยอาการปวดหลังที่ต้นเหตุได้
การรักษาโรคกระดูกสันหลัง
การรักษาโรคกระดูกสันหลังมีหลายวิธี คือ การรักษาแบบประคับประคอง โดยวิธีการกินยา และกายภาพ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถรักษาให้หายได้เอง และในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น จะใช้วิธีฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาทรอบๆ เส้นประสาทให้หายจากการอักเสบ หรือฉีดยาเข้าไปในข้อต่อเพื่อลดอาการอักเสบ และการรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงจี้เส้นประสาทเล็กๆ ที่เลี้ยงข้อต่อนั้น เพื่อให้อาการปวดลดลง
ทั้งนี้ การรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) โดยทั่วไปจะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ คือ รักษาด้วยวิธีประคับประคอง ไม่เป็นผลสำเร็จ หรือมีอาการปวดเรื้อรัง หรือมีอาการอ่อนแรงของขาอย่างชัดเจน หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย ปัสสาวะ หรืออุจจาระได้ ซึ่งการผ่าตัดนี้เป็นเทคโนโลยีการรักษาโรคกระดูกสันหลังที่ทันสมัยผ่านกล้อง Endoscope ที่มีแผลเล็กขนาดเพียง 8 มิลลิเมตรโดยเลนส์ของเอ็นโดสโคปจะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก เพื่อผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
Work from Home อย่างไรให้ห่างไกลโรคกระดูกสันหลัง
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคกระดูกสันหลังของวัยทำงาน คือ การนั่งนาน ไม่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เหมือนที่ทำงาน บางคนไม่มีโต๊ะหรือเก้าอี้ที่เหมาะสำหรับการทำงาน ฉะนั้นควรป้องกันตามสาเหตุ ดังนี้
- ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน เช่น จัดที่นั่งบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ หาเก้าอี้นุ่มๆ มีพนักพิง หรือเก้าอี้เหมาะสำหรับนั่นทำงานเป็นระยะเวลานาน
- ปรับความสูงของจุดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับร่างกายและท่านั่ง ความสูงของจอที่เหมาะสมนั้น ขอบบนของจออยู่ใกล้ระดับสายตา กลางจอควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 10-20 องศา
- ให้เป็นอิริยาบถบ่อยๆ การจัดการท่านั่งที่ถูกต้อง เหมาะสม
- หาเวลาออกกำลังกาย เพื่อให้กระดูกและกล้ามเนื้อได้ขยับทำงาน ฝึกกล้ามเนื้อคอ หลัง และไหล่ ที่ต้องใช้งานขณะนั่งทำงานให้เกิดความแข็งแรง
- ทำงานให้เป็นเวลา กำหนดเวลาการทำงาน และการพักผ่อนที่ชัดเจน
ทั้งนี้เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือพยายามจัดสิ่งแวดล้อมก็แล้ว พยายามยืดเหยียดเองก็แล้วยังไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการปวดคอ หรือ ปวดหลัง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง หาสาเหตุและทำการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง