กระดูกสันหลังคดในเด็กสรีระผิดปกติที่ต้องสังเกต
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล
กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยตั้งแต่แรกเกิดถึงช่วงวัยรุ่น มักไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ จะเป็นเรื่องรูปร่าง โครงสร้าง และความสมดุลของร่างกาย ส่วนใหญ่ที่จะสังเกตได้ คือ เด็กเดินตัวเอียง บริเวณหัวไหล่ สะโพกมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน สะบักด้านหลังอาจจะนูนต่างกันนิดหน่อย บริเวณเอวอาจจะมีรอยคอดเว้าดูไม่สมดุล กระดูกสันหลังคดในเด็กหากปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อกระดูกสี่โครง ไขสันหลัง ปอดในระยะยาว และอาจร้ายแรงจนส่งผลกับระบบการทำงานของหัวใจได้ รวมทั้งยังกระทบต่อบุคลิกภาพ ยังส่งผลให้ตัวเตี้ยลงมากขึ้นทุกปีอีกด้วย หากสังเกตพบความผิดปกติดังกล่าว ให้เข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังเพื่อตรวจและวางแผนการรักษาอย่างทันท่วงที
สารบัญ
กระดูกสันหลังคด แบ่งได้กี่ประเภท
- กระดูกสันหลังปกติตั้งแต่แรกเกิดแต่มีการคดในภายหลัง (Adolescent idiopathic scoliosis) เป็นภาวะที่กระดูกสันหลังคดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทการทรงตัว ส่งผลให้เกิดกระดูกหลังคดได้ สามารถแบ่งได้ 3 ช่วงกลุ่มอายุ ได้แก่
- กลุ่มตั้งแต่แรกเกิด - 3 ปี โดยประมาณ 90% จะหายเองได้
- กลุ่มอายุ 4-10 ปี จะพบว่าเด็กมีอาการของกระดูกสันหลังคด เช่น บริเวณหัวไหล่ สะโพกมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลระยะยาวได้
- กลุ่มอายุ 10-18 ปี เป็นกลุ่มที่พบโรคกระดูกสันหลังคดได้มากที่สุด หากมีการคดที่ไม่มากก็ไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแต่เฝ้าสังเกตและเฝ้าระวัง การเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง เนื่องจากเป็นช่วงที่กระดูกจะเจริญเติบโตและเด็กจะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากก่อนช่วงอายุ 15 ปี มีความเปลี่ยนแปลงของสรีระร่างกายอย่างเห็นได้ชัด ให้รีบพบแพทย์
- การสร้างและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากขณะแม่ตั้งครรภ์ตัวอ่อนในครรภ์มีกระดูกสันหลังที่ผิดปกติ หรืออาจจะเกิดจากยาที่แม่รับประทานระหว่างตั้งครรภ์
- กระดูกสันหลังคดจากระบบประสาทกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่สามารถรักษาสมดุลของลำตัวและกระดูกสันหลังได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อโตมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อกระดูกสันหลังฝ่อลีบ เป็นต้น
จะรู้ได้ไงว่าลูกกระดูกสันหลังคด
กระดูกสันหลังคดในเด็ก จำเป็นต้องอาศัยการสังเกตเป็นหลัก โดยผู้ปกครองสามารถสังเกตความผิดปกติจากสรีระร่างกายได้ดังนี้
- เด็กเดินตัวเอียง
- มีความสั้นยาวของขาไม่เท่ากัน
- มีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
- ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน
- บริเวณเอวอาจจะมีรอยคอดเว้าดูไม่สมดุล
- ด้านหลังนูนทำให้คิดว่าหลังโก่ง
- สะโพกสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน
- สะบักด้านหลังอาจจะนูนต่างกันนิดหน่อย
กระดูกสันหลังคดในเด็กมีผลกระทบอย่างไร
- ผลกระทบด้านสรีระร่างกาย มีแนวสะโพกเอียง ซี่โครงยื่นออกมาผิดปกติ เอวและลำตัวเบี้ยว รูปร่างพิการ กระทบต่อบุคลิกภาพ และส่งผลให้เด็กตัวเตี้ยลงมากขึ้น
- ผลกระทบด้านสุขภาพ มีอาการปวดหลังเรื้อรังมากกว่าคนปกติทั่วไป มีปัญหาทางระบบหายใจ หอบเหนื่อยง่าย ปอดบวม ปอดอักเสบในระยะยาว และอาจทำให้หัวใจทำงานหนักจนสามารถเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก
โรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก จะมีการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติผู้ป่วยและตรวจดูความคดของกระดูกสันหลังทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้าง รวมทั้งการเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูกสันหลังทั้งหมด โดยใช้การวัดมุมที่เป็นมาตรฐานเพื่อดูความโค้งของกระดูกสันหลังคดว่ามีมากน้อยแค่ไหน หากกระดูกสันหลังมีมุมคดมากกว่า 10 องศา ถือว่าเริ่มมีภาวะกระดูกสันหลังคด
กระดูกสันหลังคดในเด็กกี่องศาควรผ่าตัด
- กระดูกสันหลังคดไม่เกิน 40 องศา รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ในกรณีที่เด็กมีกระดูกสันหลังคดไม่มาก ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม และทำกายภาพบำบัด พร้อมนัดติดตามเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของแนวกระดูกทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือในกรณีกระดูกสันหลังคดอยู่ระหว่าง 20 - 40 องศา แพทย์จะแนะนำการใส่เสื้อเกราะดัดหลัง อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ไปจนกว่าร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโต เพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้แนวกระดูกคดมากกว่าเดิม
- กระดูกสันหลังคด 40-45 องศาขึ้นไป รักษาโดยการผ่าตัด ในกรณีกระดูกสันหลังมีมุมองศาที่คดมาก มีองศาคดประมาณ 40-45 องศาขึ้นไป หรือมีการเพิ่มของมุมองศาที่คดมากขึ้นขณะติดตามการรักษา โดยการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดนั้นก็เพื่อจัดกระดูกสันหลังให้ตรงไม่คดหรืองอ โดยมี 3 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่
- ขั้นตอนแรก คือ การใส่อุปกรณ์เข้าไปเพื่อจัดกระดูกสันหลังให้ตรง
- ขั้นตอนที่สอง คือ การทำให้กระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่น แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังจะมีการกรอบางส่วนของกระดูกสันหลังเพื่อที่จะให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อปรับมุมกระดูกสันหลังให้ตรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ขั้นตอนสุดท้าย คือ การใส่สกรูเพื่อยึดกระดูกสันหลังและเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง เพื่อจัดกระดูกสันหลังให้ตรงไม่คดหรืองอ พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีระบบนำวิถี หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด โดยการสร้างภาพ 3 มิติ ทำให้เห็นโครงสร้างทั้งหมดเพื่อความแม่นยำในการวางตำแหน่งสกรู ซึ่งการแสดงตำแหน่งต่างๆ บริเวณที่ผ่าตัด ทำให้สามารถสกรูเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดเมื่ออุปกรณ์อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดแล้ว จะมีความแข็งแรงมากและจัดให้กระดูกกลับมาได้ตรง
อย่างไรก็ตามพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของลักษณะกระดูกสันหลังของเด็ก โดยวิธีสังเกตง่ายๆ คือ การให้เด็กก้มหลัง เวลาที่ก้มแล้วมองจากทางด้านหลังแนวกระดูกสันหลังควรจะเป็นแนวตรงถ้ามีความคดโค้ง ให้รีบเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปหากอาการไม่รุนแรง มักไม่ต้องเข้ารับการรักษา เพียงไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เด็กบางรายอาจต้องใส่อุปกรณ์พยุงหลังหรือเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่มีอาการรุนแรง
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง