การตรวจสุขภาพตาด้วยเครื่อง OCT วินิจฉัยโรคตาได้อย่างละเอียดและแม่นยำ

ศูนย์ : ศูนย์จักษุ

บทความโดย : พญ. วิภาวี วงษ์ไชยคณากร

การตรวจสุขภาพตาด้วยเครื่อง OCT วินิจฉัยโรคตาได้อย่างละเอียดและแม่นยำ

โรคตาบางชนิดอาจไม่มีอาการแสดงผิดปกติเลยในระยะแรกของโรค เช่น จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจก ต้อหิน หากไม่ได้รับการรักษาจะค่อยๆ ลุกลามมากขึ้น จนสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในที่สุด การตรวจสุขภาพตาจึงมีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าการตรวจสุขภาพอื่นๆ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้มีการพัฒนาการตรวจสุขภาพตาและวินิจฉัยโรคตาได้อย่างแม่นยำ ด้วยเครื่อง OCT (Optical coherence tomography) ที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ต้องฉีดยาและสามารถดูเส้นเลือดในตาโดยไม่ต้องฉีดสี ตรวจง่าย ละเอียด และ รวดเร็ว


การตรวจสุขภาพตาด้วยเครื่อง OCT

เครื่อง OCT (Optical Coherence Tomography) เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ในการตรวจจอประสาทตา เป็นเครื่องมือที่ใช้ถ่ายภาพประสาทตาในลักษณะภาพตัดขวาง เป็นภาพ 2 และ 3 มิติ โดยภาพที่ได้จากเครื่อง OCT จะให้ความละเอียดในการวินิจฉัยได้ถึงระดับ 10-15 ไมครอน (1 ไมครอน คือ 1/100 มิลลิเมตร) สามารถตรวจความหนาของชั้นจอประสาทตาและพยาธิสภาพ เช่น ค้นหาความเสี่ยงของการทำลายเซลล์ประสาทตาจากภาวะต้อหินได้ละเอียดและชัดเจน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ จอประสาทตาบวมจากเบาหวานขึ้นจอตา พังผืดบริเวณจอประสาทตา วัดความหนาของจอตาเพื่อใช้วิเคราะห์โรคต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังสามารถเห็นรายละเอียดบริเวณรอยต่อระหว่างน้ำวุ้นตากับจุดกลางรับภาพจอประสาทตาได้อีกด้วย ซึ่งจะประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อดูความผิดปกติได้ทันที และยังสามารถติดตามการรักษาได้อย่างแม่นยำ


เครื่อง OCT สามารถตรวจวินิจฉัยโรคตา อะไรได้บ้าง

การตรวจสุขภาพตาด้วยเครื่อง OCT จะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด ไม่ต้องฉีดยาและสามารถดูเส้นเลือดในตาโดยไม่ต้องฉีดสี ไม่ต้องสัมผัสรังสี ผู้เข้ารับการตรวจจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ สามารถวิเคราะห์โรคได้อย่างแม่นยำ ตรวจง่ายและรวดเร็ว โดยสามารถตรวจวินิจฉัยโรคตาได้หลายประเภท เช่น

  • โรคจอประสาทตาจากโรคเบาหวาน
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากอายุ (AMD) โดยมีความเสี่ยงในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โรคจุดรับภาพบวมจากภาวะต่างๆ เช่น เบาหวาน เส้นเลือดดำที่จอประสาทตาอุดตัน
  • โรคจุดรับภาพฉีกขาด
  • ภาวะพังผืดที่จอประสาทตาและจุดรับภาพ
  • ภาวะจอประสาทตาหลุดลอก
  • ภาวะเส้นเลือดผิดปกติที่จอประสาทตา
  • โรคต้อหิน ซึ่งมีความเสี่ยงในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ที่มีการอักเสบเรื้อรังในม่านตา และ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน
  • โรคต้อกระจก

ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพตา

ทุกคน ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา (รวมทั้งตรวจจอประสาทตา) ทุก 2-4 ปี และสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรได้รับการตรวจจอประสาทตาจากจักษุแพทย์ ทุก 1 - 2 ปี แม้จะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น รวมไปถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงโรคทางตา ก็ควรรับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เช่น

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน กระจกตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม
  • การได้ยาบางชนิดที่มีผลกับตา
  • ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำ
  • ผู้ที่ทำงานที่ใช้สายตามาก

การเตรียมตัวเมื่อมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตา

ผู้ตรวจไม่ควรมาคนเดียว เนื่องจากในการตรวจจอตาต้องมีการใช้เครื่องมือพิเศษ จักษุแพทย์ต้องขยายม่านตาด้วยการหยอดตา ส่งผลให้ตามัวต่อเนื่องประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงไม่ควรขับรถหรือเดินทางกลับโดยลำพัง

แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น แต่การตรวจสุขภาพตาถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย หากมีความผิดปกติทางตา หรือเป็นโรคตา การพบจักษุแพทย์เป็นประจำ และได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ จะป้องกันความพิการทางสายตาได้ นอกจากนี้การตรวจพบ และเริ่มดูแลตั้งแต่ระยะแรกของโรค ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ ซึ่งการมีสุขภาพตาและการมองเห็นที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย