การผ่าตัดหลัง ในปัจจุบันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะด้วยเทคนิคการรักษาสมัยใหม่ และเทคโนโลยีการผ่าตัดหลังในปัจจุบันที่ถูกพัฒนาขึ้นให้มีความแม่นยำ แผลเล็ก รวมไปถึงแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ จึงมีความปลอดภัยมากกว่าในอดีต ถือว่าเป็นแนวทางการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ดี สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังเสื่อม เคลื่อน ทรุด หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ที่มีอาการปวดไม่ว่าจะเป็นบริเวณคอ หรือหลัง เช่น ปวดหลังร้าวลงขา ปวดคอร้าวลงแขน มีอาการชา อ่อนแรง เป็นต้น และด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดหลังนี้ทำให้ผู้ป่วยปวดแผลผ่าตัดลดลงและสามารถกลับคืนสู่ชีวิตประจำวันปกติได้เร็วขึ้น
สารบัญ
เมื่อใดต้องเข้ารับการผ่าตัดหลัง
ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดหลัง จะต้องมีข้อบ่งชี้ ที่อาจประกอบด้วยข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
- มีอาการแสดงของการทำลายเส้นประสาทอย่างรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
- มีอาการปวดหลังร่วมกับการควบคุมการขับถ่ายที่เสียไป เช่น สูญเสียการกลั้นอุจจาระ/ปัสสาวะ
- เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีประคับประคอง หรือการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดต่าง ๆ แล้วอย่างเต็มที่เป็นเวลา 6 – 8 สัปดาห์ แต่อาการยังไม่ดีขึ้นหรือไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกเคลื่อน หรือทรุด เป็นต้น
เทคนิคการผ่าตัดหลังมีอะไรบ้าง
- การผ่าตัดหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) รักษา โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคโพรงประสาทตีบแคบ
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอวผ่านผิวหนัง หรือ TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) ผ่านกล้อง Microscope โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด แสดงตำแหน่งต่าง ๆ บริเวณที่ผ่าตัด ใช้ในการรักษาโรคกระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น
- การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกต้นคอจากทางด้านหน้า (Anterior Cervical Discectomy And Fusion; ACDF) ผ่านกล้อง Microscope เป็นการรักษาภาวะกระดูกคอเสื่อม หมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท เป็นต้น
- การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคด โดยใช้สกรูและแท่งโลหะเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขให้แนวกระดูกสันหลังเป็นเส้นตรง พร้อมทั้งใช้ใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี (O-arm Navigation) มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัด
เทคโนโลยีการผ่าตัดหลังผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (MIS)
ปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดหลัง ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและมุ่งเน้นไปยังรอยโรคของผู้ป่วยโดยตรง ทำให้ลดการเสียเลือด ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และลดการบาดเจ็บหลังผ่าตัดลงมากกว่าการผ่าตัดแบบเดิมหลายเท่า อีกทั้งระยะในการนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลที่สั้นกว่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้เร็วขึ้น
การผ่าตัดหลังผ่านกล้อง Microscope
การผ่าตัดหลังด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic spine surgery) ถือว่าเป็นหนึ่งในเทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นรายละเอียดที่ชัดเจน และเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดเนื้อเยื่อบริเวณไขสันหลัง เส้นประสาท และพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นที่กระดูกสันหลังที่ต้องการแก้ไข โดยแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กเพียง 2-3 เซนติเมตร
การผ่าตัดหลังผ่านกล้อง Endoscope
การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope ที่มีลักษณะเป็นท่อเดี่ยวที่มีเลนส์อยู่ที่ปลายกล้อง โดยมีใยแก้วนำแสงเพื่อช่วยในการมองเห็นรวมทั้งท่อส่งน้ำขนาดเล็กอยู่ภายใน ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 8 มิลลิเมตร ซึ่งมีช่องใส่อุปกรณ์เพื่อกรอกระดูกและเอาหมอนรองกระดูกออกผ่านช่องขนาดเล็ก ซึ่งเลนส์ของกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) ที่ปลายกล้องนี้เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก
การรักษาโรคกระดูกสันหลังด้วยวิธีการผ่าตัดหลังในปัจจุบันมีแนวทางรักษาได้หลากหลายวิธี รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบเพื่อลดความเจ็บปวดและลดระยะเวลาพักฟื้นตัวลงมาก ทำให้การผ่าตัดหลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแนวทางรักษาก็จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโรคและผู้ป่วยในแต่ละบุคคล ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้ข้างล่างเลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง