การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังคด โดยเทคโนโลยี O-arm Navigation ช่วยผ่าตัด

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. บดินทร์ วโรดมวนิชกุล

การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังคด โดยเทคโนโลยี O-arm Navigation ช่วยผ่าตัด

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ ภาวะที่มีการบิดหมุนของกระดูกสันหลังทำให้กระดูกสันหลังไม่อยู่ในแนวตรง หรือบิดเป็นตัว S หรือ ตัว C พบได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ หากปล่อยไว้ไม่รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น มีโอกาสที่จะทำให้ กระดูกสันหลังคดที่รุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด เป็นหนึ่งวิธีในการรักษากระดูกสันหลังคดเพื่อแก้ไขให้แนวกระดูกสันหลังกลับคืนตำแหน่งที่ถูกต้องเป็นเส้นตรง รวมทั้งการนำเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี O-arm Navigation (โอ-อาร์ม เนวิเกชั่น) เข้ามาช่วยในการผ่าตัด ทำให้เพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดมากขึ้น ลดการบาดเจ็บ สูญเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติอีกครั้ง


เมื่อใดควรผ่าตัดกระดูกสันหลังคด

การรักษากระดูกสันหลังคดหากมีความคดของกระดูกสันหลังไม่เกิน 40 องศา จะใช้วิธีการออกกำลังกาย ทำกายภาพบำบัด และใส่เสื้อเกราะดัดหลัง แต่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคดเข้ารับการผ่าตัดเมื่อ

  • มีอาการกระดูกสันหลังคดมากขึ้นและกระดูกสันหลังยังเจริญเติบโตได้อีกมาก
  • รักษาด้วยวิธีประคับประคอง รวมทั้งการใส่เสื้อเกราะดัดหลังแล้วไม่ได้ผล
  • กระดูกสันหลังส่วนอกมีความโค้งมากกว่า 45-50 องศา
  • กระดูกสันหลังเอวมีความโค้งมากกว่า 40-45 องศา

การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด โดยใช้ O-arm Navigation ช่วยผ่าตัด

การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด จะใช้วิธีการผ่าตัดโดยใช้สกรูและแท่งโลหะเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขกระดูกสันหลังที่คดและผิดรูปในทุกแกนความผิดปกติ ให้แนวกระดูกสันหลังกลับคืนตำแหน่งที่ถูกต้องเป็นเส้นตรง นอกจากกระดูกสันหลังจะกลับมาตรงตามปกติแล้ว การแก้ไขกระดูกสันหลังที่หมุนผิดปกติในแกนราบจะได้รับการแก้ไขด้วย ส่งผลให้การโก่งนูนของกระดูกสะบัก หน้าอก และเต้านมได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์มากขึ้น

ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด ความแม่นยำในการวางตำแหน่งสกรูเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีรูปร่างและขนาดของกระดูกสันหลังแตกต่างกัน ซึ่งการนำเครื่องคอมพิวเตอร์นำวิถี O-arm Navigation (โอ-อาร์ม เนวิเกชั่น) เข้ามาช่วยแสดงภาพกระดูกสันหลังอย่างละเอียด ทั้งด้านบน ด้านล่าง และด้านข้าง เป็นแบบสามมิติ พร้อมทั้งวางแผนตำแหน่งวางสกรูอย่างแม่นยำ ทำให้แพทย์ผ่าตัดใส่สกรูได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากการใส่สกรูผิดตำแหน่งที่อาจส่งผลให้กระดูกสันหลังคดผิดรูปจากปกติ ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะผ่าตัดได้


การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

  • ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเช็คร่างกายด้วย การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) และการตรวจเช็คร่างกายทั่วไป
  • ผู้ป่วยจะต้องแจ้งประวัติการรักษา อาการแพ้ยา หรือการรักษาอื่นๆ ที่ได้รับอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยากลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดหรือยาต้านการจับตัวของลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน และวาร์ฟาริน โดยต้องหยุดใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • งดน้ำ และอาหารก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง
  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนผ่าตัด งดสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาโรงพยาบาล
  • มีญาติที่สามารถดูแลผู้ป่วยและประสานกับเจ้าหน้าที่ได้คอยดูแล

ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด

ผู้ป่วยจะได้รับการระงับความรู้สึกโดยวิธีดมยาสลบระหว่างอยู่ในท่านอนคว่ำ และตลอดระยะเวลาการผ่าตัดแพทย์จะติดตามการทำงานของระบบประสาทด้วยเครื่องมือประมวลผลติดตามการทำงานของระบบประสาทขณะผ่าตัด ลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง

ขั้นตอนการผ่าตัด เริ่มด้วยการเจาะรูด้านหลังของผู้ป่วยเพื่อให้เห็นกระดูกสันหลัง โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ O-arm Navigation (โอ-อาร์ม เนวิเกชั่น) จะส่งภาพกระดูกสันหลังอย่างละเอียด รวมทั้งคำนวณหาตำแหน่งวางสกรูอย่างแม่นยำที่สุด เมื่อแพทย์วางสกรูเรียบร้อยแล้ว กระดูกสันหลังของผู้ป่วยจะได้รับการจัดเรียงใหม่ให้อยู่ในแนวปกติ ต่อจากนั้นจะทำการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีการปลูกถ่ายกระดูก การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง


ปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

ภายหลังการผ่าตัด ควรงดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังมาก เช่น การก้มตัว การบิดตัว นานประมาณ 3 - 6 เดือน แล้วจึงเริ่มออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น เดิน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น

กระดูกสันหลังคดที่พบบ่อยในช่วงวัยรุ่น ส่วนมากเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีกระดูกสันหลังคด หรือสงสัยว่าจะมีกระดูกสันหลังคดควรพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย และหากตรวจยืนยันแล้วว่า มีกระดูกสันหลังคดควรรับการรักษาและติดตามอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากกระดูกสันหลังอาจคดมากขึ้น





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย