โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตก รักษาเร็ว รอด ปลอดอัมพาต

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

โรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองแตก รักษาเร็ว รอด ปลอดอัมพาต

เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตก จะส่งผลให้สมองเกิดภาวะขาดเลือด รวมทั้งการเกิดเลือดคั่งอยู่ในเนื้อสมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากพบสัญญาณเตือน มีอาการอ่อนแรง แขนขาชาครึ่งซีก ปากหรือหน้าเริ่มเบี้ยว ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาให้เร็วที่สุด


สัญญาณอันตรายโรคหลอดเลือดสมอง

การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สามารถสังเกตอาการได้ตามหลัก F.A.S.T ดังนี้

  • F = Face ใบหน้ามีอาการหน้าชา ปากเบี้ยว มุมปากตก กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก
  • A = Arm แขน ขา อ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวลำบาก
  • S = Speech การพูด มีลักษณะพูดไม่ออก ลิ้นแข็ง หรือ พูดไม่ชัดอย่างทันทีทันใด
  • T = Time รู้เวลาที่เริ่มมีอาการ คือ รู้ว่าเริ่มมีอาการเป็นเวลาเท่าไหร่นับจากที่มีอาการผิดปกติ หรือนับจากเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการปกติเป็นครั้งสุดท้าย และรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อการตรวจและวินิจฉัย ภายใน 4.5 ชม.


การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง (ทำโดยระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชม.)

  1. ประเมินคัดแยกอาการของโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันที
  2. ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินอาการทางระบบประสาท
  3. การตรวจวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนตามมาตรฐานที่กำหนดโดยการเจาะเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  4. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อแยกอาการว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใด
  5. อธิบายให้ญาติทราบรายละเอียดของโรค และแผนการรักษา
  6. ทำการรักษา


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จะขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรงและระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการโดยแบ่งตามลักษณะของโรค ดังนี้

1. ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ตัน เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในระบบไหลเวียนโลหิต หรืออาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ไม่ยืดหยุ่น และประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง ออกซิเจนในเลือดจึงไม่สามารถไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในสมองได้

เป้าหมายของการรักษา คือ ทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ดังนี้

  • การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) จะใช้ในกรณีผู้ป่วยมาพบแพทย์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงนับจากมีอาการ อายุมากกว่า 18 ปี มีขนาดของสมองขาดเลือดไม่ใหญ่เกิน 1 ใน 3 ของสมองครึ่งซีก และพิจารณาความเหมาะสมของร่างกายผู้ป่วยแล้ว โดยแพทย์จะทำการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อละลายลิ่มเลือดที่ปิดกั้นหลอดเลือดอยู่ออกเพื่อช่วยให้เลือดกลับไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง
  • การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval) แพทย์สามารถพิจารณาใช้วิธีนี้ได้ หากเป็นการตีบตันของเส้นเลือดใหญ่ โดยแพทย์จะทำการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ จนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง โดยอาศัยการเอกซเรย์นำทางบอกตำแหน่ง จากนั้นจะทำการใส่ขดลวดพิเศษขนาดเล็ก (Stent) ผ่านเข้าไปในสายสวนจนถึงตำแหน่งของลิ่มเลือด แล้วทำการปล่อยขดลวดให้ค่อยๆ กางออกในลักษณะเป็นตะแกรงหลอดเลือดเพื่อเกาะจับลิ่มเลือด แล้วค่อยๆ นำออกมาผ่านสายสวน ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองอีกครั้ง

2. ภาวะเส้นเลือดสมองแตก เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณนั้นโป่งพองและแตกออก ซึ่งอาการพบจะมีอาการปวด หรือ มึนศีรษะเฉียบพลัน ตามด้วยอาการซึมลง แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง พูดไม่ชัด อาจมีอาการชัก หรือ หมดสติร่วมด้วย

เป้าหมายของการรักษา คือ การควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต โดยให้ยาลดความดันโลหิตเพื่อป้องกันการแตกซ้ำ พร้อมทั้งหาสาเหตุของเส้นเลือดในสมองแตก ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองด้วย โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเลือดที่ออกภายในสมองและขนาดของก้อนเลือด ส่วนใหญ่จำเป็นต้องผ่าตัดสมองเพื่อป้องกันการกดเบียดก้านสมอง ซึ่งหากเกิดภาวะนี้จะทำให้เป็นอันตราย และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว


การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

หลังจากทำการรักษาโรคหลอดเลือดสมองแล้วการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำคือสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมภาวะความเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น รับประทานผัก ผลไม้ ป้องกันท้องผูก หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดทั้งหวาน เค็ม มัน การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก หมั่นทำกายภาพบำบัด รับประทานยา และพบแพทย์สม่ำเสมอ

สำหรับผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาโดยแพทย์จนพ้นวิกฤติแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาและหยุดยาเอง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากยา หรือเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นซ้ำอีกได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรรอดูอาการแต่ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลได้เร็วจะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันการณ์ ลดความเสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิตได้





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย