การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด รักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน

ผู้ป่วยที่มีอาการของหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน แขนขาอ่อนแรง ซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตามัว หรือตามองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่ง เดินเซ เสียการทรงตัว ถ้ามาถึงโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมงแรก จะรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดซึ่งช่วยลดความพิการและความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลงได้ สำหรับผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลช้าจนไม่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ หรือพบว่าเส้นเลือดในสมองขนาดใหญ่อุดตันยังมีอีกหนึ่งนวัตกรรมการรักษาที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ด้วย “การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด” (Clot Retrieval) พร้อมทั้งนำเครื่องไบเพลน (Biplane DSA) เข้ามาช่วยเพิ่มการรักษาให้มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น



การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval)

เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน โดยการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตัน แล้วดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมองเพื่อเปิดรูของหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองส่วนที่ขาดเลือดได้อีกครั้ง ทำให้สมองได้มีโอกาสฟื้นตัว กลับมาทำงานได้ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วไม่ได้ผล หรือมาไม่ทันเวลา 4.5 ชม. ซึ่งการใส่สายสวนลากลิ่มเลือดสามารถขยายเวลารักษาได้ถึง 6 ชม.หลังมีอาการ หรือถึง 24 ชม. ในผู้ป่วยบางรายที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีโอกาสสำเร็จ

วิธีการใส่สายสวนลากลิ่มเลือดในผู้ป่วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบและอุดตัน ถือว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปิดหลอดเลือดที่อุดตันได้ถึง 80% ลดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา ลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยมีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษาและอาการดีขึ้นจนเป็นปกติ

> กลับสารบัญ


เมื่อไรถึงใช้วิธีการใส่สายสวนลากลิ่มเลือด

สำหรับผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลช้าเกินระยะเวลาการให้ยาละลายลิ่มเลือด คือ 4.5 ชั่วโมง และตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (X-ray) หรือเครื่องสร้างภาพด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แล้วพบว่า มีหลอดเลือดสมองอุดตันขนาดใหญ่และยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังสามารถทำการรักษาด้วยวิธีนี้ได้

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ แล้วไม่ได้ผลหรือยังมีอาการผิดปกติ โดยแพทย์พิจารณาว่าสามารถใช้วิธีการใส่สายสวนลากลิ่มเลือดได้ และเป็นหลอดเลือดสมองขนาดใหญ่เท่านั้น รวมทั้งผู้ป่วยมีข้อห้ามบางประการของการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือมีภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติ

ขั้นตอนการใส่สายสวนลากลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมอง

  1. ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาระงับความรู้สึกหรือยาสลบ
  2. ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณขาหนีบ
  3. กรีดผิวหนังบริเวณขาหนีบ เป็นแผลขนาดเล็กประมาณ 3-4 มิลลิเมตร สำหรับสอดสายสวน
  4. แพทย์จะทำการใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ จนกระทั่งถึงตำแหน่งที่ลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดในสมอง โดยอาศัยการเอกซเรย์นำทางบอกตำแหน่ง
  5. จากนั้นแพทย์จะทำการใส่ขดลวดพิเศษขนาดเล็ก (Stent) ผ่านเข้าไปในสายสวนจนถึงตำแหน่งของลิ่มเลือด แล้วทำการปล่อยขดลวดให้ค่อยๆ กางออกในลักษณะเป็นตะแกรงหลอดเลือดเพื่อเกาะจับลิ่มเลือด แล้วค่อยๆ นำออกมาผ่านสายสวน
  6. ดึงสายสวนออกจากร่างกายผู้ป่วยทางขาหนีบ
  7. เมื่อแพทย์นำลิ่มเลือด ขดลวดและสายสวนออกจากผู้ป่วยแล้ว พยาบาลจะกดห้ามเลือดที่ขาหนีบไว้ ประมาณ 10 - 15 นาที โดยผู้ป่วยต้องนอนราบบนเตียง ห้ามงอขาข้างที่ใส่สายสวนประมาณ 8-12 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)
  8. ผู้ป่วยจะต้องนอนพักที่หอผู้ป่วยระยะวิกฤต เพื่อสังเกตอาการ โดยแพทย์และพยาบาลจะเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงทางสมอง อาการเลือดออกในสมอง ตรวจสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากประเมินแล้วว่าผู้ป่วยปลอดภัยดี แพทย์จึงจะอนุญาตย้ายให้ไปนอนพักฟื้นที่หอผู้ป่วยปกติได้

> กลับสารบัญ


เพิ่มศักยภาพการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันด้วย Biplane DSA

การใส่สายสวนลากลิ่มเลือดรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันนั้น จะทำโดยมีเครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ (Biplane Digital Subtraction Angiography) หรือ Biplane DSA ที่สามารถสร้างภาพ 3 มิติของหลอดเลือด ภาพเสมือนภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพแผนที่หลอดเลือดนำทาง ซึ่งเป็นตัวช่วยที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน ช่วยให้แพทย์ทำหัตถการการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยการใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ถึงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และแก้ไขได้ทันที ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

> กลับสารบัญ


ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะได้เข้ารับการฟื้นฟูร่างกายและระบบประสาทโดยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ก็จะแตกต่างกันแล้วแต่ผู้ป่วยแต่ละราย

นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

ประสาทวิทยา/โรคหลอดเลือดสมองและการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นความถี่สูง
ศูนย์สมองและระบบประสาท






วิดีโอที่เกี่ยวข้อง





ความประทับใจจากผู้เข้ารับบริการ





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย