ก้ม เงยหัวบ่อย อาจนำไปสู่ โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง

บทความโดย : นพ. ปริญญา บุณยสนธิกุล

ก้ม เงยหัวบ่อย อาจนำไปสู่ โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ ปวดคอ เคลื่อนไหวตัวได้ยาก และจะปวดมากขึ้นเวลานั่งหรือยืน ปวดตรงกลางคอ ร้าวมาปวดที่สะบักด้านในบริเวณไหล่ และปวดคอร้าวลงแขนที่มือ แล้วมีอาการชาร่วมด้วย นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ซึ่งโรคนี้สามารถเป็นได้ในคนทุกเพศทุกวัย ไม่เพียงแต่เป็นผู้สูงอายุเท่านั้น หากอยู่ในอิริยาบถที่ต้องก้ม-เงยศีรษะ หรือหันคอมากเกินไปเป็นเวลานาน โดยไม่รู้เลยว่าพฤติกรรมคุ้นชินเหล่านี้ อาจส่งผลร้ายตามมาโดยไม่รู้ตัว


โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม เป็นได้อย่างไร?

โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical spondylosis) เกิดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง การเคลื่อนไหวคอ หรือการอยู่ในอิริยาบถที่ต้องก้ม-เงยศีรษะหรือหันคอมากเกินไปเป็นเวลานาน พบได้บ่อยจากการทำงานที่ต้องก้มคออยู่เป็นประจำ และอาจพบร่วมกับภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อม หรือภาวะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากออฟฟิศซินโดรม

โดยความเสื่อมนั้นเริ่มจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกซึ่งเกิดขึ้นแบบช้าๆ กินเวลาหลายปี ระหว่างนั้นจะมีอาการปวดคอ ต่อมาจะมีกระดูกงอก มีการหนาตัวของเส้นเอ็นซึ่งจะทำให้ช่องกระดูกสันหลังแคบลง และอาจไปกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังได้


สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

  1. อายุมักเป็นในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไปและมีอาการรุนแรงมากเมื่ออายุมากขึ้น
  2. พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ยกของหนัก ใช้คอก้มหรือเงยติดต่อกันเป็นเวลานาน
  3. อุบัติเหตุและการบาดเจ็บบริเวณศีรษะและลำคอ
  4. ภาวะที่มีการสึกกร่อนและฉีกขาดของกระดูกสันหลังส่วนคอเอง พบมากที่กระดูกสันหลังส่วนคอระดับ 5–6 เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ใช้งานและเคลื่อนไหวมากที่สุด
  5. การแคบลงของช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังส่วนคอแต่ละปล้อง เนื่องจากการบางและเล็กลงของหมอนรองกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวนั้นถูก จำกัด จึงเกิดการเสื่อมได้เร็ว

อาการของโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

อาการแสดงของโรคนี้สามารถแบ่งเป็นอาการที่เกิดตามส่วนต่างๆ ดังนี้

อาการที่คอ: ปวดคอ บ่า หรือไหล่เรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปจนถึงบริเวณท้ายทอยได้ อาการปวดนี้อาจบรรเทาได้ด้วยการนวดหรือฝังเข็ม แต่ก็มีการกลับมาเป็นซ้ำเรื่อยๆ ไม่หายขาด

อาการที่แขน: อาการแสดงที่แขนมีได้ 3 แบบ คือ อาการปวด ชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เกิดจากการที่เส้นประสาทสันหลังส่วนคอถูกรบกวน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือชาลงมาตามบริเวณแขน ข้อศอก หรือนิ้วมือได้ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็มีลักษณะคล้ายอาการปวดและชา คือ จะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับนั้น บางรายมาพบแพทย์เพราะไม่สามารถใช้มือทำงานละเอียดอ่อนได้เหมือนเดิม เช่น การเซ็นชื่อเขียนหนังสือ การเล่นดนตรี หรือการติดกระดุม เป็นต้น

อาการที่ขา: หากมีการกดทับของไขสันหลังมักไม่มีอาการปวด แต่อาการจะแสดงออกในลักษณะการเดินที่ผิดปกติ เช่น ขาตึงผิดปกติ รู้สึกโคลงเคลงเหมือนล้มง่าย เดินก้าวสั้น เดินตามคนอื่นไม่ทัน ผู้ป่วยบางรายอธิบายว่าเดินเหมือนขาเป็นตะเกียบ หรือเดินเหมือนหุ่นยนต์ อาการเหล่านี้หากทิ้งไว้นานอาการอาจแย่ลงจนมีกล้ามเนื้อลีบจนกระทั่งไม่สามารถเดินได้ในที่สุด



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม?

สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม แพทย์จะสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งช่วยในการตรวจวินิจฉัยอาการปวดคอที่ต้นเหตุได้


การรักษาโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบริหารกล้ามเนื้อและปรับกิจวัตรประจำวัน แต่หากอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก แพทย์อาจรักษาโดยใช้วิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด การลดอาการปวดด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงประสาท แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอ เพื่อป้องกันความเสียหายของเส้นประสาทอย่างถาวร ได้แก่

  1. การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ เป็นการผ่าตัดเพื่อคลายการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลังโดยการเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนคอเข้าหากัน แพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีนี้ในกรณีเมื่อมีการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง หรือเมื่อมีอาการปวดเรื้อรังจากภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม
  2. การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมบริเวณคอ เป็นการผ่าตัดที่นำหมอนรองกระดูกบริเวณส่วนคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดออก และนำหมอนรองกระดูกเทียมใส่เข้าไปแทนที่ นอกจากนี้ศัลยแพทย์สามารถตัดกระดูกส่วนที่งอกออกมา และขยายพื้นที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งจะช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทและรากประสาท จะพิจารณาการผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดคอรุนแรงหรืออาการชา และ/หรือมีอาการอ่อนแรงอย่างชัดเจน
  3. การผ่าตัดกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทผ่านกล้องเอ็นโดสโคป เป็นการผ่าตัดนำเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยเปิดแผลขนาดเพียง 8 มิลลิเมตร ทำให้แผลผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอมีขนาดเล็กลงมาก ลดอาการบาดเจ็บ ลดระยะเวลาในการพักฟื้น สามารถคืนคุณภาพชีวิตเดิมให้ผู้ป่วยได้ในเร็ววัน
ทั้งนี้ภาวะกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการประเมินถึงระดับความรุนแรงและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละคนต่อไป ซึ่งหากใครมีความกังวลว่าจะป่วยด้วยโรคนี้อย่าปล่อยไว้นานให้รีบพบแพทย์โดยด่วน




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

สินค้าในตระกร้าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข, กรุณาตรวจสอบจำนวน
จัดการตระกร้าสินค้า

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย