ความจำเสื่อม อาการหลงๆลืมๆ ที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา อาจเสี่ยงสมองเสื่อม
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ
อาการหลงลืมจำไม่ได้วางของอยู่ไหน ลืมปิดเตาแก๊ส ลืมกุญแจ นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่ายๆ ไม่ได้ ล้วนมักเป็นการอาการเริ่มต้นของโรคความจำเสื่อม คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคความจำเสื่อมก็จำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว รวมทั้งกลัวการรักษาจนปล่อยให้โรคลุกลามเกินกว่าจะรักษาได้ ส่งผลกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนที่คอยดูแล
ปัจจัยเสี่ยงความจำเสื่อม สมองเสื่อม อัลไซเมอร์
ความจำเสื่อมเป็นหนึ่งในอาการของภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ คือ ภาวะที่เซลล์สมองในบริเวณต่างๆ เสื่อม จากสาเหตุต่างๆ โดยเริ่มจากส่วนหนึ่งในสมองแล้วลุกลามไปยังสมองส่วนอื่นๆ ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ การเกิดภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ นั้นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือ อายุที่มากขึ้นซึ่งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีความจำถดถอยลง อับดับสองเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบ พอหลอดเลือดสมองตีบ มีภาวะอุดตันก็จะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามมาได้
นอกจากปัจจัยดังกล่าว ยังมีเรื่องของไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ แบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ คือ 1.ผู้ที่ชอบทำอะไรซ้ำซาก จำเจ มีกิจวัตรประจำวันเดิมๆ ทำอะไรซ้ำๆ ไปเที่ยวที่เดิม รับประทานอาหารร้านเดิม เมนูเดิม ไม่ยอมทำอะไรใหม่ๆ 2. ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังเป็นเวลานาน และไม่ได้รับการรักษา จะทำให้สมองส่วนความจำที่มีชื่อว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เหี่ยวเล็กกว่าคนปกติทั่วไป และ 3. กลุ่มคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม เก็บตัวอยู่คนเดียว
อาการโรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์
อาการของโรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ จะเริ่มมีความจำผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อย เช่น หลงลืมว่าวางของอยู่ไหน ลืมปิดเตาแก๊ส ลืมกุญแจ ลืมปิดประตูบ้าน ลืมปิดไฟ ลืมรับประทานยาที่จำเป็น มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ใครบอกอะไรไปแล้วไม่จำ ซึ่งแต่ก่อนไม่เป็น เป็นต้น จนถึงภาวะความจำเสื่อมขั้นรุนแรงที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เรียกชื่อสิ่งของและชื่อคนที่คุ้นเคยไม่ถูก หรือสูญเสียความเข้าใจภาษา และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการมีพฤติกรรมผิดปกติ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า เฉื่อยชา โมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เห็นภาพหลอน หวาดระแวง
สังเกตความผิดปกติของโรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ ได้อย่างไร?
- อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ ลืมสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา
- สับสนเรื่องเวลา สถานที่ ฤดูกาล กลับบ้านไม่ถูก หลงทิศทาง หรือไม่รู้ว่าจะไปสถานที่นั้นๆ ได้อย่างไร
- จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
- มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำหรือประโยคซ้ำๆ
- ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
- มีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์ การดูนาฬิกา
- มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
- ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น
การวินิจฉัยและรักษาโรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์
แพทย์จะมีการซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง จากนั้นจะเริ่มการทดสอบทางสมอง เพื่อวัดสมรรถภาพการทำงานประเมินความบกพร่องในการรับรู้เพื่อใช้วินิจฉัยโรค เช่น ให้ทำแบบทดสอบกระดาษหน้าเดียวที่มีคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป ทักษะสมอง คิดเลข ร่วมกับการตรวจร่างกายและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม เพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้องเพื่อคัดแยกโรคต่างๆ ที่มีผลต่อความจำเสื่อม ผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ และมีสาเหตุจากอะไร โดยการตรวจในห้องปฏิบัติการจะประกอบไปด้วย การตรวจเลือดต่างๆ การตรวจภาพสมองด้วยเครื่อง Computed Tomography (CT) หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI)
ในด้านของการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก เช่น ความจำเสื่อมที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ การรักษาจะประกอบด้วยการให้ยาที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ซึ่งมักจะได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก ร่วมกับการให้ยารักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน (TDCS) เพิ่มความจำและความสามารถของสมอง เป็นต้น
นวัตกรรมใหม่ในการฟื้นฟูสมองและระบบประสาท
การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/กระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน (Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) / Transcranial Direct Current Stimulation (TDCS)) เป็นการรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทรูปแบบใหม่ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือใช้ยา โดย TMS/TDCS สามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาท เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต พูดไม่ชัด สื่อสารลำบากจากหลอดเลือดอุดตัน, ผู้ป่วยไมเกรน, ผู้ป่วยความจำถดถอยจากโรคอัลไซเมอร์, ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่รับประทานยาต่อเนื่องมาแล้ว 1 ปีขึ้นไป แล้วไม่เห็นผล รวมถึงอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับระบบสมอง
TMS เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รักษาภาวะอัลไซเมอร์
TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คล้ายกับเครื่อง MRI เป็นคลื่นแม่เหล็กที่สามารถทะลุผ่านอวัยวะต่างๆ เข้าไปได้ลึก ประมาณ 1-3 เซนติเมตร เพี่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมและการสร้างวงจรระบบประสาทต่างๆ ภายในสมองของผู้ป่วยที่มีภาวะความจำถดถอยจากโรคอัลไซเมอร์ โดยการกระตุ้นสมองในตำแหน่งต่างๆ จะใช้หัว coil ในลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งรูปร่าง ความถี่ และความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งรอยโรคของผู้ป่วยโดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ
วิธีการรักษาโดยเครื่อง TMS
วิธีการรักษาโดยเครื่อง TMS มีวิธีการรักษาโดยนำหัวส่งคลื่นแม่เหล็ก มาวางที่ศีรษะ วิธีการดังกล่าวไม่ทำผู้เข้ารับการรักษาเจ็บหรือเกร็งใดๆ เพราะกระบวนการรักษานั้นไม่มีการผ่าตัด หรือฉีดสิ่งใดเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ในขณะที่ทำ TMS ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงการกระตุกของกล้ามเนื้อบ้าง แต่จะไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย การทำTMS สามารถรักษาเป็นครั้งๆ ได้ ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ไม่ต้องนอนพักฟื้นและสามารถกลับบ้านได้เลยทันที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท