ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคทางดวงตาที่ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะเกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบความดันลูกตาสูง และหากเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หรือภาวะตาบอดได้โดยไม่รู้ตัว
สารบัญ
ต้อหิน (Glaucoma)
ต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากความดันลูกตาสูงขึ้นจนไปทำลายเส้นประสาทตา ซึ่งความดันลูกตาสูงเป็นเวลานานจะกดเส้นประสาทตาทำให้เสื่อม และเสียการมองเห็นโดยเริ่มที่ขอบนอกลานสายตา ส่วนตรงกลางภาพยังเห็นชัดเจน บางครั้งก็เกิดในผู้ที่มีความดันภายในลูกตาปกติ ในระยะแรกส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าตนเป็นต้อหิน
ซึ่งอาการของต้อหินในช่วงแรกไม่แสดงอาการจนเริ่มสูญเสียลานสายตา คือ ตามัวเล็กน้อย การมองเห็นจำกัดวงแคบลง ทำให้เดินชนของค่อนข้างบ่อย ตาสู้แสงไม่ได้ แต่ในต้อหินบางประเภท เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตามาก
ปัจจัยในการเกิดต้อหิน
- ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นต้อหินก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- ผู้ที่มีระดับความดันภายในลูกตาปกติค่อนข้างสูง โดยสูงมากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ เชื้อชาติ อายุ การใช้ยาสเตียรอยด์ ภาวะสายตาสั้นมากๆ โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
ชนิดของต้อหิน
- ต้อหินชนิดมุมเปิด พบได้บ่อยร้อยละ 60-70 ของทั้งหมด เกิดจากเนื้อเยื่อส่วนที่ทำหน้าที่กรองน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาผิดปกติ ทำให้ความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้น และทำลายขั้วประสาทตาในที่สุด แบ่งเป็นชนิดความดันตาสูงและชนิดความดันตาปกติ โดยที่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตาเล็กน้อยแต่ส่วนมากมักไม่ปวดตา
- ต้อหินชนิดมุมปิด พบได้บ่อยร้อยละ 10 ของทั้งหมด เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างลูกตา ทำให้เกิดการอุดกั้นของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตา กรณีที่เกิดขึ้นเฉียบพลันผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว ปวดศีรษะ เมื่อมองไปที่แสงไฟจะเห็นเป็นวงกลมจ้า หรือสีรุ้งรอบดวงไฟ หากรุนแรงมาก จนเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ต้อหินโดยกำเนิด พบได้ตั้งแต่แรกเกิดในทารกและเด็กเล็กเกิดร่วมกับความผิดปกติตั้งแต่แรกคลอดของดวงตา อาจมีความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย และโรคนี้อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ต้อหินชนิดแทรกซ้อน เกิดจากความผิดปกติอย่างอื่นของดวงตา เช่น การอักเสบ ต้อกระจกที่สุกมาก อุบัติเหตุต่อดวงตา การใช้ยาหยอดตาบางชนิดและภายหลังการผ่าตัดตา เช่น เปลี่ยนกระจกตา การผ่าตัดต้อกระจกที่มีภาวะแทรกซ้อน ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาระยะรุนแรง
ตรวจวินิจฉัยและแนวทางรักษาโรคต้อหิน
จักษุแพทย์จะทำการตรวจเช็กตาอย่างระเอียด รวมถึงการซักประวัติทางร่างกาย อาการต่างๆ โดยการตรวจ เช่น การวัดสายตา การตรวจความดันภายในลูกตาหากมีความดันเกิน 21 มิลลิเมตรปรอทถือว่าผิดปกติ การตรวจลานสายตา การตรวจมุมสายตา การตรวจเส้นประสาทตา เป็นต้น
ด้านการรักษาโรคต้อหิน จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อไม่ให้ประสาทตาถูกทำลาย ให้ผู้ป่วยคงการมองเห็นให้นานที่สุด ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค โดยการรักษามีดังนี้
- การใช้ยารักษาความดันลูกตา เช่น การใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตาอย่างสม่ำเสมอ
- การใช้เลเซอร์ โดยจะรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์
- การผ่าตัดต้อหิน โดยวิธีนี้จะใช้ต่อเมื่อหากควบคุมความดันลูกตาด้วยยาหรือเลเซอร์แล้วไม่ได้ผล แพทย์พิจารณาการผ่าตัดเพื่อทำทางระบายน้ำภายในลูกตาให้ออกสู่เนื้อเยื่อโดยรอบเพื่อให้ความดันลูกตาลดลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรค วิธีที่ป้องกันอาการต้อหินที่ดีที่สุดคือ การได้รับการตรวจและวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปีเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน การระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ กระแทกของดวงตา ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลและปรึกษาแพทย์ออนไลน์โดยส่งข้อมูลข้างล่างได้เลย
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์จักษุ