ทำความรู้จัก...เครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน
ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท
บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ
TDCS หรือเครื่องกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน เป็นวิธีการรักษาอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการความจำถดถอย ผู้ป่วยที่มีแขนขาอ่อนแรงจากหลอดเลือดสมองตีบ หรือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ที่เข้ามาช่วยรักษาและฟื้นฟูการทำงานของสมอง ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาและการทำกายภาพบำบัด ทำให้การรักษาอาการดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้อีกครั้ง
การรักษาด้วยเครื่อง TDCS
การรักษาโดยเครื่องกระตุ้นสมอง ด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน คือ การกระตุ้นสมองด้วยไฟฟ้ากระแสตรงอย่างอ่อนผ่านกะโหลกศีรษะ (Transcranial Direct Current Stimulation : TDCS) โดยใช้เครื่องมือที่ส่งกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อนประมาณ 1-2 mA ผ่านอิเล็กโทรดไปยังกะโหลกศีรษะ ใช้เวลากระตุ้นประมาณ 10-30 นาที ต่อครั้ง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ทำให้วงจรประสาททำงานได้ปกติ และมีการหลั่งสารสื่อประสาทออกมาได้
- รักษาอาการความจำถดถอย โรคอัลไซเมอร์ เพิ่มความจำและความสามารถของสมอง (Memory and Cognitive enhancer) ทำโดยการกระตุ้นสมองส่วนหน้าของกลีบหน้าผาก (Prefrontal cortex) หรือ สมองกลีบขมับส่วนหน้า (anterior temporal cortex) เพื่อเพิ่มความจำและทำให้การประมวลผลของสมองเร็วขึ้น (speed of cognitive) หรือ ความยืดหยุ่นของสมองดีขึ้น (neuroplasticity)
- รักษาโรคหรือภาวะซึมเศร้า (Depression) ในผู้ที่รับประทานยาต่อเนื่องมาระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป แล้วไม่เห็นผล โดยจะไปเพิ่มการทำงานของสมองส่วน DLPFC ซึ่งจะมีหน้าที่ไปควบคุมสมองส่วนอารมณ์ (Limbic system) ทำให้อารมณ์กลับมาดีขึ้น
- รักษาอาการแขนขาอ่อนแรง โดยการกระตุ้นด้วยเครื่อง TDCS จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของประสาทสั่งการของกล้ามเนื้อแขนขาข้างที่อ่อนแรง ให้มีแรงมากขึ้น เช่น เพิ่มความสามารถของการใช้มือ เพิ่มแรงบีบของนิ้วมือ หากทำการกระตุ้น ร่วมกับการทำกายภาพร่างกาย จะยิ่งทำให้การฟื้นฟูหายเร็วขึ้น
ผู้เหมาะสมกับการรักษา
- ผู้ที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง จากหลอดเลือดสมองตีบ
- ผู้ที่มีปัญหาพูดไม่ชัด สื่อสารลำบาก จากหลอดเลือดอุดตัน หรือภาวะสมองเสื่อม
- ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ระยะต้นถึงระยะกลาง
- ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าที่รักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
ขั้นตอนการรักษาด้วยเครื่อง TDCS
- การรักษานั้นขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการกระตุ้นสมองตรงตำแหน่งไหน โดยแพทย์จะทำการวัดตำแหน่งที่ต้องการปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไป
- กำหนดตำแหน่งแล้ว จะทำการติดสายส่งกระแสไฟฟ้า 2 ตำแหน่งคือ กระแสไฟเข้า และกระแสไฟออก จากนั้นปล่อยกระแสไฟฟ้า
- 3. ระหว่างการรักษาผู้ป่วยเพียงแค่นั่งเฉยๆ ไม่มีอาการเจ็บปวด แต่ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหมือนมดกัด เหมือนมีเข็มเล็กๆ ทิ่ม หรือคัน ในตำแหน่งที่กระแสไฟฟ้าเข้าหรือออกได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปภายใน 30-60 วินาที หรืออาจเกิดผิวหนังแดงบริเวณที่กระตุ้นได้ในบางครั้ง
ระยะในการรักษาด้วยเครื่อง TDCS
การรักษาโดยส่วนใหญ่แล้วประมาณ 5-10 ครั้ง จะเริ่มเห็นผลการรักษาที่ดีขึ้น ในช่วง 1 เดือนแรก ควรเข้ามารับการกระตุ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อสอบถามอาการ และให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยพร้อมทำแบบทดสอบก่อนรับการรักษาได้
ข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยที่มีบาดแผล การติดเชื้อ มีรอยโรค หรือเส้นเลือดอักเสบในบริเวณหนังศีรษะที่กระตุ้น
- มีประวัติเลือดออกง่าย หรือมีประวัติชัก
- ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจชนิด Demand-Type
- ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือกสมองอุดตัน/แตกในระยะเฉียบพลัน ควรระมัดระวังในการรักษา
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการกระตุ้นด้วย TDCS
ความปลอดภัยของการรักษา
- รักษาด้วยกระแสไฟฟ้า ไม่มีการใช้รังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- มีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสมอง เนื่องจากการกระตุ้นแบบนี้ใช้กระแสไฟฟ้าที่อ่อนมากประมาณ 1-2 mA จึงทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อเซลล์สมองใดๆ
- เป็นการรักษาที่ไม่ต้องดมยาสลบและไม่เจ็บปวด
บทความทางการแพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาท