ท้องผูกเรื้อรัง ลำไส้พัง ไม่รู้ตัว
ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระก้อนเล็กลงหรือแข็งขึ้น ต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ เบ่งอุจจาระไม่ออก หรือไม่สุด ทั้งหมดนี้บ่งบอกว่าคุณมีอาการท้องผูกอย่างแน่นอน ปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข เพราะหากปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังไปนานๆ หรือมีภาวะการขับถ่ายที่ผิดปกติดำเนินไปโดยไม่แก้ไข หรือแก้ไขอย่างผิดวิธี อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวาร ลำไส้ผิดปกติ หรือขั้นร้ายแรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ท้องผูกเรื้อรังเกิดจากสาเหตุใด
ภาวะท้องผูก มักเกิดขึ้นเมื่อ ลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างที่ย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีของเสียตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอุจจาระที่แห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้นจนขับถ่ายลำบาก ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักๆ ได้แก่
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวันอาจทำให้เกิดท้องผูกเรื้อรัง เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย รับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงอาหารแปรรูปที่มีไขมันและน้ำตาลปริมาณมาก ออกกำลังกายน้อยหรือไม่ออกเลย กลั้นอุจจาระบ่อยๆ
- ยาบางประเภทอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการท้องผูกได้ เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมิเนียม ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน เป็นต้น
- ภาวะเจ็บป่วยบางอย่างจะส่งผลให้มีอุจจาระตกค้างในลำไส้จนทำให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรัง เช่น เกิดแผลปริที่ขอบทวารหนัก ลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
- ภาวะที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลอาจทำให้เกิดปัญหาท้องผูกเรื้อรังได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคลำไส้แปรปรวน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น
- การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย เป็นการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลงทำให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ
อาการแบบไหนเข้าสู่ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
ภาวะท้องผูกเรื้อรังหมายถึงการมีอาการใดอาการหนึ่ง ดังนี้
- การมีอุจจาระแข็ง
- ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระลดลงกว่าปกติ หรือน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ใช้เวลานานในการเบ่งถ่าย
- มีความเจ็บปวดเวลาเบ่งถ่ายหรืออุจจาระมีเลือดปนออกมา
- หลังถ่ายอุจจาระเรียบร้อยแล้วแต่ยังมีความรู้สึกถ่ายไม่หมดหรือถ่ายอุจจาระไม่สุด
ท้องผูกเรื้อรังส่งผลอย่างไรบ้าง
การที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ส่งผลให้มีอาการเครียด เบื่ออาหาร ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ปวดหัว ปวดหลัง และแสบร้อนบริเวณหน้าอกได้ รวมไปถึงการเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกวันอาจส่งผลต่อร่างกาย ได้แก่
- ส่งผลให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือแผลปริรอบๆ ทวารหนักจากอุจจาระที่แห้งแข็งครูดหลอดเลือดจนฉีกขาดได้
- ส่งผลให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ส่งผลให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหู
- ส่งผลให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้นจนเป็นสาเหตุของไส้เลื่อนได้
- ส่งผลให้กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- ท้องผูกเรื้อรังจนทำให้มีอาการของลำไส้อุดตัน
ท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัญหาท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย อย่างโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากเกิดอาการอาการใดอาการหนึ่ง หรือตั้งแต่ 2 อาการขึ้นไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ได้แก่
- ท้องผูกอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์
- ท้องเสียเล็กน้อยนาน 1 สัปดาห์
- ท้องเสียอย่างรุนแรงนานเกิน 2 วัน
- ถ่ายเหลวและถ่ายเป็นเลือด
- อุจจาระมีสีดำ
- ปวดถ่ายอุจจาระในแบบที่ต้องถ่ายทันทีอย่างหาสาเหตุไม่ได้
การวินิจฉัยอาการท้องผูกเรื้องรัง
เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ อาการร่วมต่างๆ และการตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการตรวจทางทวารหนัก บางกรณีอาจมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
- ส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อแยกภาวะอุดกั้นหรือตีบแคบของลำไส้
- การตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้
- การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อในการขับถ่ายและการรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ตรง
- การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้การขับถ่าย ได้แก่ กล้ามเนื้อช่องท้อง กล้ามเนื้อเชิงกราน และกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก
รักษาอาการท้องผูกเรื้อรังได้อย่างไร
การรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง จะรักษาตามสาเหตุที่เป็น โดยมีหลายวิธี ได้แก่
- การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ควรฝึกขับถ่ายให้เป็นนิสัย พยายามขับถ่ายให้ตรงเวลา ไม่กลั้นอุจจาระโดยไม่จำเป็น ปวดเมื่อไหร่ควรรีบไปเข้าห้องน้ำ นั่งขับถ่ายในท่านั่งที่เหมาะสม รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใย ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน ออกกำลังกายตามความเหมาะสม ฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพราะในบางครั้งปัญหาท้องผูกอาจเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวทำงานบกพร่อง เป็นต้น
- การรักษาโดยการใช้ยาช่วยการขับถ่าย อุจจาระได้ง่ายขึ้น โดยยาแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารแตกต่างกันไป เช่น ยาระบายในกลุ่มกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัว (Stimulant Laxatives) ยาระบายกลุ่มที่ออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำเพื่อให้อุจจาระมีปริมาณน้ำมากขึ้น (Osmotic Laxatives) ไหลกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ยาเหน็บหรือยาสวนทวาร ทั้งนี้ควรขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง
- การผ่าตัด โดยจะเป็นการผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ออก ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหาท้องผูกเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาระบายหรือการฝึกเบ่งแต่ลำไส้ใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวช้าอย่างรุนแรง
ปัญหาท้องผูกเรื้อรังไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลยหรือนิ่งนอนใจ เพราะหากปล่อยไว้ให้เรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับร่างกายในระยะยาว ดังนั้นหากพบว่ามีอาการท้องผูกติดต่อกันควรเข้ามาตรวจเช็กและเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางทางเดินอาหารและตับโดยเร็ว
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ