ปวดหลังแบบนี้ Office Syndrome หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ศูนย์ : ศูนย์กระดูกสันหลัง
บทความโดย : นพ. สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม
อาการปวดหลัง ปวดคอ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน มักเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ หรือ ผู้ที่ยกของหนักมากๆ เป็นประจำ แม้ว่าอาการจะหายได้เองจากการรับประทานยา แต่หารู้ไหมว่าอาการปวดเหล่านี้สามารถเป็นขึ้นได้อีกถ ้ายังคงดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมแบบเดิมๆ ซึ่งหากละเลยไม่คำนึงถึง อาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ปวดแบบไหน Office Syndrome แบบไหน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไปหาคำตอบกัน
Office Syndrome
Office Syndrome เป็นกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ และปวดอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น อาการเหล่านี้มักพบได้บ่อยในผู้ที่นั่งทำงานในออฟฟิศในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยที่ร่างกายใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไปจนเกิดเป็นอาการปวด ซึ่งพบได้มากกว่า 50% อาการอาจจะมาในลักษณะเดี่ยวๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ แต่ที่พบบ่อยกว่า คือ อาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาจมีอาการใดอาการหนึ่งมากน้อยแตกต่างกันไป ทั้งปวดหัว ปวดล้ากระบอกตา ปวดสะบัก อ่อนเพลีย ชามือจากปลายประสาทที่ถูกกดทับ และเมื่อยตัว
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
อาการปวดหลัง ปวดคอ ที่เกิดจากภาวะออฟฟิศซินโดรมโดยส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน หลังจากการรับประทานยา หยุดทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปวดหลัง ปวดคอ รวมไปถึงการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย และปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง แล้วอาการปวดแบบไหน ที่เป็นสัญญาณเตือน ว่าคุณเสี่ยงเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเข้าให้แล้ว
- ปวดหลังที่เป็นเรื้อรังติดต่อกันนานเกินกว่า 3 เดือน หรือเป็นๆ หายๆ มากกว่า 2 สัปดาห์เป็นต้นไป
- ปวดบริเวณคอ หลัง อก เอว หลังช่วงล่าง หรือบริเวณไหล่ที่เชื่อมกับคอ โดยปวดแบบจิ๊ดๆ เหมือนไฟฟ้าช็อต หรืออาจจะปวดจนสะดุ้งเบาๆ
- ปวดหลังร้าวลงสะโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า
- มีปัญหาในการเดิน เช่น ทรงตัวได้ไม่ดี เดินลำบาก ขาแข็งเกร็ง
- อาการปวดหลัง ร่วมกับมีอาการร่วมของความผิดปกติทางระบบประสาทที่รุนแรง เช่น อาการชา ขาอ่อนแรง มีอาการผิดปกติในการควบคุมปัสสาวะและ อุจจาระ เป็นต้น
- เวลา ไอ จาม หรือเบ่ง จะยิ่งปวด
ถ้าสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาการปวดหลังอาจมีได้หลายสาเหตุ ประสบการณ์ของแพทย์ผู้รักษาจึงมีความสำคัญในการให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เพื่อผู้ป่วยจะได้ทราบแนวทางการป้องกัน หรือรักษาอย่างทันท่วงที
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์กระดูกสันหลัง